คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนผลการฉายรังสีฯเทคนิคก้าวหน้า เพื่อรักษามะเร็งตับอ่อน

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-283

      

      ตับอ่อน เป็นอวัยวะที่อยู่ในส่วนลึกของช่องท้องตอนบนและอยู่ใต้กระเพาะอาหาร ดังนั้นเมื่อเป็นมะเร็ง จึงยากต่อการฉายรังสีรักษาโดยไม่ให้กระทบต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ที่อยู่รอบๆ จึงเป็นข้อจำกัดของการใช้รังสีฯเพราะจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะปกติที่อยู่รอบๆตับอ่อน แพทย์จึงจำเป็นต้องใช้รังสีฯได้ในปริมาณต่ำ จึงส่งผลให้การควบคุมมะเร็งตับอ่อนด้วยการฉายรังสีฯเทคนิคมาตรฐาน/เทคนิคธรรมดา(Conventional radiotherapy)ไม่ดีนัก ประกอบกับเซลล์มะเร็งตับอ่อนเป็นชนิดค่อนข้างดื้อต่อทั้งรังสีฯและต่อทั้งยาเคมีบำบัด การรักษามะเร็งตับอ่อนที่จะให้ผลการรักษาที่ดี จึงจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดตับอ่อนเป็นการรักษาหลัก แต่ปัจจุบัน เทคนิคการฉายรังสีฯที่รวมถึงในบ้านเราได้พัฒนาไปอย่างมาก รวมถึงผู้ป่วยที่อยู่ในสิทธิบัตรทอง ก็สามารถเข้าถึงการฉายรังสีเทคนิคก้าวหน้าเหล่านี้ได้เมื่อแพทย์รังสีรักษาเห็นว่า ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยเทคนิคเหล่านี้ที่จะช่วยให้รังสีฯจำกัดอยู่เฉพาะก้อนมะเร็ง ทำให้แพทย์สามารถให้การรักษามะเร็งได้ในรังสีฯปริมาณที่สูงขึ้น โดยอวัยวะข้างเคียง/อวัยวะที่อยู่ล้อมรอบจะได้รับรังสีในปริมาณน้อยมาก เช่น การฉายรังสีฯเทคนิคที่เรียกว่า ไอเอ็มอาร์ที(IMRT, Intensity-modulated radiotherapy) และ เทคนิคที่เรียกว่า เอสบีอาร์ที(SBRT, Stereotactic Body Radiation Therapy)

      แพทย์คณะที่ศึกษานี้ จึงต้องการทราบถึงผลการรักษามะเร็งตับอ่อนระยะที่ผ่าตัดไม่ได้ แต่โรคยังจำกัดอยู่เฉพาะตับอ่อน ยังไม่มีการแพร่กระจาย และมะเร็งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดของตับอ่อน คือ Adenocarcinoma (Non metastatic pancreatic adenocarcinoma) โดยเปรียบเทียบระยะเวลาในการอยู่รอดของผู้ป่วยที่ใช้การรักษาด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ ให้ยาเคมีบำบัดเพียงวิธีเดียว, ให้เคมีฯ+รังสีฯเทคนิคธรรมดา, ให้เคมีฯ+รังสีฯเทคนิค IMRT, และให้เคมีฯ+รังสีฯเทคนิค SBRT

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา นำโดย นักวิทยาศาตร์ ชื่อ Susanna W. L. de Geus จากโรงพยาบาล Beth Israel Deaconess Medical Center, Harvard Medical School, Boston, Massachusetts และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 1พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจาก the National Cancer Data Base file ช่วงปี ค.ศ. 2004-2012

      ผลการศึกษาจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ทั้งหมด 14,331ราย เป็นผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดวิธีการเดียว 5,464 ราย (38.1%); 6,418 (44.8%)ราย ได้เคมีฯ+รังสีฯเทคนิคธรรมดา; 322 ราย(2.3%)ได้เคมีฯ+รังสีฯเทคนิค IMRT; และ2,127 ราย(14.8%)ได้เคมีฯ+รังสีฯเทคนิค SBRT มัธยฐานระยะรอดชีวิตของผู้ป่วย(Median survival time)ในกลุ่ม ยาเคมีฯเพียงอย่างเดียว= 9.9 เดือน; เคมีฯ+รังสีฯเทคนิคธรรมดา= 10.9 เดือน; เคมีฯ+รังสีฯโดย IMRT= 12 เดือน; และเคมีฯ+รังสีฯโดย SBRT= 13.9 เดือน ซึ่งผลการรักษาที่ดีที่สุดจะอยู่ในผู้ป่วยกลุ่ม เคมีฯ+SBRT และผลการรักษาต่ำสุดจะอยู่ในกลุ่มได้เคมีฯวิธีการเดียว ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p น้อยกว่า 0.0001) และในส่วนของเทคนิครังสีฯ SBRT ให้ผลการรักษาดีกว่ารังสีฯเทคนิคธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P น้อยกว่า 0.018) และกลุ่มได้เคมีฯ+รังสีฯSBRT ผลการรักษาดีกว่ากลุ่มได้ เคมีฯ+รังสีฯIMRT แต่ยังไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p=0.492)

      คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การรักษามะเร็งตับอ่อนชนิดAdenocarcinoma ระยะที่ทำผ่าตัดไม่ได้ การให้ยาเมีบำบัด+รังสีรักษาเทคนิคก้าวหน้า ให้ผลการรักษาดีกว่า การใช้ยาเคมีบำบัดเพียงวิธีเดียว หรือ การใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาเทคนิคธรรมดา โดยคณะผู้ศึกษาเห็นว่า การให้เคมีฯ+รังสีฯเทคนิค SBRT เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการรักษามะเร็งตับอ่อนกลุ่มนี้เนื่องจากคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจะดีขึ้นจากระยะเวลาการฉายรังสีที่จะสั้นลงมากประมาณ 3-6 ครั้ง จากเทคนิคธรรมดาที่ต้องฉายรังสี 25-30 ครั้ง

      ทั้งนี้ การรักษาด้วยวิธีก้าวหน้าเหล่านี้ แพทย์ไทยก็ได้ใช้ในการรักษามะเร็งตับอ่อนกลุ่มนี้อยู่แล้วในปัจจุบัน

บรรณานุกรม

  1. Cancer 2017;123(21):4158–4167 (abstract)