คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษามะเร็งกล่องเสียงระยะลุกลามเฉพาะที่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-282

      

      มะเร็งกล่องเสียงระยะลุกลามเฉพาะที่(Locally advanced stage) คือมะเร็งกล่องเสียงระยะที่มีโรคลุกลามรุนแรงแต่โรคยังจำกัดอยู่เฉพาะที่กล่องเสียงและ/หรือที่ต่อมน้ำเหลืองลำคอ ยังไม่มีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ(T4M0) ซึ่งการรักษามาตรฐานของมะเร็งกล่องเสียงระยะนี้คือ การผ่าตัดกล่องเสียงออกแล้วตามด้วยการฉายรังสีรักษา(ผ่าตัด+รังสีฯ) แต่ผู้ป่วยจำนวนมากมักจะไม่ยอมรับการผ่าตัดกล่องเสียง หรือมีสุขภาพที่ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดใหญ่เช่นการผ่าตัดกล่องเสียงได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีฯ (เคมีฯ+รังสีฯ) ซึ่งการให้เคมีฯ+รังสีฯจะมี 2วิธี คือ ให้เคมีพร้อมๆกับรังสี(คือให้เคมีอยู่ภายในไม่เกิน7วันของรังสีฯ) หรือ ให้เคมีฯนำไปก่อนจนครบเคมีฯ(คือประมาณ 43-98วัน)หลังจากนั้นจึงให้รังสีฯตาม แพทย์จึงต้องการเปรียบเทียบว่า การรักษาวิธีไหนให้ผลเป็นอย่างไร

      การศึกษานี้รายงานในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นการศึกษาที่นำโดย นพ. William Stokes แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา จากมหาวิทยาลัย University of Colorado School of Medicine, Aurora, Colorado โดยเป็นการศึกษาที่ใช้ข้อมูลจาก the National Cancer Data Base ของสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ. 2004-2012 ในการนี้มีผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงระยะโรค T4M0 ที่ได้รับการรักษาโดย ผ่าตัด+รังสีฯ 1,559 คน, ได้รับยาเคมีบำบัดพร้อมรังสีฯ 1,597 คน, และได้รับเคมีฯนำไปก่อนการให้รังสีฯ 386 คน

      ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มได้รับยาเคมีฯร่วมกับรังสีในช่วงเวลาเดียวกัน มีอัตรารอดชีวิตต่ำกว่า กลุ่มได้รับการผ่าตัด+รังสีฯ และกลุ่มได้ยาเคมีบำบัดนำก่อนรังสีฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ p < 0.01, และ p< 0.01 ตามลำดับ แต่ทั้งนี้ อัตราการรอดชีวิตในกลุ่ม ผ่าตัด+รังสีฯและกลุ่มได้ยาเคมีฯนำก่อนให้รังสีฯ ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p=0.10 ซึ่งคณะผู้ศึกษา สรุปว่า เนื่องจากการศึกษานี้ยังมีจำนวนผู้ให้ยาเคมีฯนำไปก่อนจนครบเคมีฯแล้วจึงตามด้วยรังสียังมีจำนวนผู้ป่วยน้อย (386 คน) จึงน่าจะถือว่า การรักษามาตรฐานของมะเร็งกล่องเสียงระยะ T4M0 ยังควรเป็น การผ่าตัดกล่องเสียงแล้วตามด้วยการฉายรังสีรักษา แต่ถ้าไม่สามารถผ่าตัดกล่องเสียงได้ การรักษาควรเป็นการให้ยาเคมีนำก่อนจนครบเคมีฯ แล้วจึงตามด้วยการฉายรังสีฯ

      ทั้งนี้ ในประเทศไทยเอง การรักษามะเร็งกล่องเสียงในโรคระยะดังกล่าว ก็ใช้แนวทางปฏิบัติดังกล่าวเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Cancer2017;123(4):600–608(abstract)