คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนอาหารไขมันกับมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-279

      

      การศึกษาเรื่องผลของอาหารต่อโรคมะเร็ง จะมีรายงานผลออกมาเรื่อยๆ ด้วยอาหารเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีผลต่อการดำรงค์ชีวิตของเซลลต่างๆของมนุษย์ และเมื่ออ่านแล้ว ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการใช้ชีวิตได้ ก็ควรนำมาปรับใช้ ซึ่งการศึกษานี้ก็เป็นอีกการศึกษาถึงผลของอาหารไขมันกับอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

      การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาขนาดใหญ่ของโรคมะเร็งเต้านมในสตรีของสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งมีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมสูงมากในโลกประเทศหนึ่ง เป็นการศึกษาหลัก ที่มีผู้ป่วยเข้าร่วมศึกษาจำนวนมาก และมีระเบียบวิธีในการศึกษาที่เป็นมาตรฐาน ผลการศึกษาจึงเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการในช่วงปี ค.ศ. 1993-1998 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มที่หมดประจำเดือนแล้ว จากโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา 40 แห่ง เพื่อดูว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฯที่มีการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารโดยให้รับประทานอาหารไขมันในปริมาณต่ำ คือ 20%ของอาหารที่ให้พลังงานทั้งหมด/ต่อวัน และให้บริโภค ผัก ผลไม้ และธัญพืช เพิ่มขึ้น(จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 19,541ราย) เปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฯ 29,294รายที่ให้บริโภคอาหารปกติทั่วไป ผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มมีระยะเวลาในการบริโภคอาหารลักษณะดังกล่าว 8.5 ปี การศึกษานี้นำโดย นพ. Rowan T Chlebowski แพทย์โรคมะเร็งเต้านม จากโรงพยาบาล the Harbor-UCLA Medical Center สหรัฐอเมริกา และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา คือ Journal of Clinical Oncology(JCO)ฉบับ 1กันยายน 2017

      ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมกลุ่มหมดประจำเดือนแล้วนี้ ที่กินอาหารแบบควบคุม คือ ไขมันต่ำ แต่เพิ่ม ผัก ผลไม้ และธัญญพืช มีอัตราเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมต่ำกว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฯกลุ่มกินอาหารปกติทั่วไปอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p=0.2) รวมถึงเมื่อได้ติดตามผลการศึกษาต่อเนื่องนาน 16 ปี ก็ยังพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มจำกัดอาหารไขมันฯ มีอัตราเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมต่ำกว่ากลุ่มกินอาหารตามปกติอย่างมีความสำคัญทางสถิติเช่นกัน(p=0.1)

      ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ผลจากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไทย ก็น่าจะปรับพฤติกรรมการบริโภค โดยกินอาหารไขมันให้น้อยลง ซึ่งนอกจากจะลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมลงได้แล้ว ยังจะลดอัตราการเกิดโรคเรื่อรังต่างๆที่มีสาเหตุจากไขมันในเลือดสูงในคนที่อายุมากขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง ลงได้อีกด้วย

บรรณานุกรม

  1. JCO. 2017;35(26):2919-2926 (abstract)