คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กต่อสมอง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-278

      

      มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันในเด็กโดยเฉพาะชนิดB-cell Lymphocyte (B-cell acute lymphoblastic leukemia หรือ B-cell ALL)เป็นมะเร็งพบได้ในลำดับต้นๆของมะเร็งในเด็ก ซึ่งการรักษาหลักในโรคนี้คือการใช้ยาเคมีบำบัด แต่เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ในเด็กบางกลุ่มจะมีโอกาสที่มะเร็งนี้จะลุกลามเข้าสมองได้สูง การรักษาผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้จึงมักมีการฉายรังสีรักษาที่สมองร่วมด้วยเพื่อลดโอกาสโรคเกิดที่สมอง แต่ผลการศึกษาติดตามผู้ป่วย จะพบว่า ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการฉายรังสีรักษาที่สมองมีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีไอคิวและการพัฒนาการรับรู้ทางสมองต่ำกว่าผู้ป่วยเด็กที่ไม่ได้รับรังสีรักษาที่สมอง การรักษาในปัจจุบัน จึงมีการศึกษาที่ยกเลิกการฉายรังสีที่สมอง โดยใช้การให้ยาเคมีบำบัด Methotrexate(MTX)ร่วมกับยา Corticosteroidแทน ซึ่งยาทั้ง2ตัวจะช่วยลดการเกิดโรคที่สมองลงได้เท่าเทียมกับการฉายรังสีที่สมอง แพทย์จึงต้องการทราบว่า ยาทั้ง 2 ตัวนี้ จะส่งผลถึงไอคิวและการพัฒนาการรับรู้ทางสมองต่อผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ ที่นำโดยนักจิตวิทยาเด็ก มหาวิทยาลัย George Washington สหรัฐเอมริกา และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง Journal of Clinical Oncology(JCO) เมื่อ 10 สิงหาคม 2017

      ผลการศึกษาพบว่า ถึงแม้ไม่มีการรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาที่สมองในผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด B-cell ALL ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับยาเคมีบำบัด MTX+Corticosteroid เมื่อติดตามผลการรักษาได้นาน 8-24 เดือนหลังครบการรักษา ยังสามารถพบเกิดปัญหาทางด้านไอคิวและในการพัฒนาการรับรู้ของสมองได้ โดยพบเกิดในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 10ปี(89ราย) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10ปีขึ้นไป(103 ราย)อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p น้อยกว่า 0.001)

      คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ครอบครัวและที่มบุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กในกลุ่มนี้ จึงควรเฝ้าสังเกตถึงพัฒนาการทางสมองของเด็กกลุ่มนี้ เพื่อให้การดูแลรักษาในการพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยการพัฒนาการทางสมองของเด็กให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด

บรรณานุกรม

  1. JCO. 2017;35(23): 2700-2707(abstract)