คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงของอาหารไขมันกับมะเร็งปอด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-277

      

      แพทย์และนักวิทยาศาตร์ยังคงมีความเชื่อว่า อาหารน่าจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคต่างๆที่รวมถึงโรคมะเร็ง เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างใกล้ชิดทุกวันตลอดชีวิต ซึ่งรวมถึงการศึกษานี้ ที่เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยาที่รวบรวมผลการศึกษาจากการศึกษาทางระบาดวิทยาที่เกี่ยวข้องในเรื่องของสารก่อมะเร็งของมะเร็งปอดที่ได้ทำการศึกษาจากประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเซีย ที่เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบล่วงหน้า Prospective cohort study เพื่อดูว่า อาหารไขมันเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งปอดหรือไม่ ทั้งนี้คณะผู้ศึกษา พบการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด 10 การศึกษา โดยการศึกษานี้ นำโดยนักระบาดวิทยา ชื่อ J.J. Yang จากมหาวิทยาลัย Vanderbilt สหรัฐอเมริกา และได้ตีพิมพ์การศึกษานี้ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง JCO(Journal of Clinical Oncology) ประจำเดือน กันยายน ค.ศ 2017

      ผลการศึกษาพบว่า ในทั้ง10 การศึกษา มีประชากรที่ทำการศึกษาทั้งหมดรวม 1,445,850ราย ในจำนวนนี้พบเกิดเป็นมะเร็งปอดเมื่อติดตามไปนานเฉลี่ย 9.4 ปี 18,822 ราย โดยพบว่า ผู้เข้าศึกษาที่บริโภคอาหารที่มีไขมันรวม และ/หรืออาหารไขมันอิ่มตัวสูง เกิดมะเร็งปอดสูงกว่าผู้บริโภคอาหารไขมันรวมต่ำ และ/หรือบริโภค อาหารไขมันประเภทไขมันไม่อิ่มตัว อย่างมีความสำคัญทางสถิติ (p น้อยกว่า 0.001) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่สูบบุหรี่ร่วมด้วย(p น้อยกว่า 0.001) และในมะเร็งปอดชนิดที่พบบ่อย คือ ชนิด Squamous cell carcinoma และชนิด Small cell carcinoma นอกจากนั้นยังพบว่า คนที่บริโภคไขมันไม่อิ่มตัว เป็นมะเร็งปอดน้อยกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติเช่นกัน(p=0.2)

      คณะผู้ศึกษาจึงได้สรุปผลการศึกษานี้ว่า การศึกษานี้เป็นการศึกษาในประชากรจำนวนมาก และติดตามผลการศึกษาได้นาน ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารไขมันรวม ให้น้อยลง ร่วมกับการหันมาบริโภคอาหารไขมันชนิดไม่อิ่มตัว และการไม่สูบบุหรี่ น่าจะลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดลงได้ โดยเฉพาะมะเร็งปอดชนิด Squamous cell carcinoma และชนิด Small cell carcinoma

แหล่งข้อมูล:

  1. Journal of Clinical Oncology. 2017;35(26):3055-3064 (Abstract)