ผลการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กด้วยเคมีบำบัดกับการฉายรังสีทั้งตัวและการเปลี่ยนถ่ายสเต็มเซลล์

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-274

      

      มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก เป็นมะเร็งในเด็กที่พบได้บ่อยเป็นลำดับ1 ของมะเร็งในเด็กทั่วโลกที่รวมถึงในประเทศไทย และปัจจุบันมะเร็งชนิดนี้โดยทั่วไปมีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก อัตราหายจากโรคที่ 5 ปี สูงถึงประมาณ 80-90%ด้วยการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยเด็กโรคนี้ส่วนน้อยที่เป็นกลุ่มมีธรรมชาติของโรคที่รุนแรง(ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปีหรือมากกว่า 10ปี, มีเม็ดเลือดขาวก่อนรักษาสูงมากว่า 50,000เซลล์/cubic millimeter, มีโครโมโซมผิดปกติที่เรียกว่า Philadelphia chromosome, มีมะเร็งแพร่กระจายเข้าสมอง หรือเข้าอัณฑะตั้งแต่แรกตรวจพบโรค, มีมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพียงวิธีการเดียว, เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล/AML และ/หรือ เป็นมะเร็งเม็ดเลือดเลือดขาว ซีเอ็มแอล/CML ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มี อัตรารอดชีวิตที่ 2-5ปี ประมาณ 40% ถ้าได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเพียงวิธีการเดียว) ซึ่งการรักษากลุ่มโรครุนแรงนี้จะใช้หลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด ร่วมกับการฉายรังสีรักษาทั้งตัว ร่วมกับการเปลี่ยนถ่ายสเต็มเซลล์/การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรือไขกระดูก

      คณะแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาและแพทย์มะเร็งเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งให้การรักษาผู้ป่วยเด็กโรคกลุ่มโรครุนแรงนี้ ด้วยการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว จึงต้องการศึกษาเพื่อให้ทราบผลว่า การรักษาร่วมกันด้วย 3 วิธีการดังกล่าวให้ผลการรักษาเป็นอย่างไร ซึ่งการศึกษานี้นำโดย นพ ฐิติ สว่างศิลป์ แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา และได้รายงานผลการศึกษา ในวารสารการแพทย์ J Med Assoc Thai เมื่อ กรกฏาคม 2560 โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังผู้ป่วยเด็กมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีธรรมชาติโรครุนแรงที่ได้รับการรักษาร่วมกันทั้ง 3 วิธีดังกล่าว ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2554 โดยมีผู้ป่วยทั้งหมด 44 ราย อายุช่วง 2-15 ปี เป็นเด็กชาย 25 คน เด็กหญิง 19คน ติดตามผลการศึกษาได้นาน 0.3-16.7 ปี(มัธยฐาน/median=5.9ปี)

      ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตที่3ปี=72.5%, ที่5ปี=70%,และที่10ปี= 63% และมีอัตราปลอดโรคที่ 3ปี=85.5%, 5ปี=82.5%, และ 10ปี=82.5% โดยปัจจัยที่มีผลต่อการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี คือ เป็นผู้ป่วยที่มีการย้อนกลับเป็นซ้ำก่อนการรักษาด้วย3วิธีดังกล่าว และในผู้ป่วยที่การรักษาด้วย3วิธีการนี้ไม่ได้ผลตั้งแต่แรกรักษาด้วย3วิธีนี้

      ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาในระยเฉียบพลัน คือ มีไข้ (100%), มีการติดเชื้อต่างๆ 0.4-2.2%, และมีภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย(Graft-versus-host disease,GVHD)เฉียบพลัน 8.4% ส่วนผลข้างเคียงระยะยาวคือ ไตทำงานน้อยลง 0.4%, กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง 0.4%, เกิดพังผืดในปอด0.4%,เกิดมะเร็งชนิดที่2 0.9%, โรคหลอดเลือดดำตับอุดตัน (Veno occlusive disease of liver)0.9%, ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ 1.8%, ต้อกระจก 3.5%, ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วยเรื้อรัง 3.5%, กระดูกบาง4.8%, และฮอร์โมนเพศต่ำ 7.5% และสาเหตุเสียชีวิตจากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ที่พบสูงสุดคือ มะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ 5 ราย และจากการติดเชื้อ 5 ราย อีก 5 รายจากสาเหตุต่างๆ

      คณะผู้ศึกษา จึงมีความเห็นว่า การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเด็กที่มีธรรมชาติโรครุนแรงด้วยการรักษาร่วมกันระหว่าง ยาเคมีบำบัด การฉายรังสีรักษาทั้งตัว และการเปลี่ยนถ่ายสเต็มเซลล์ ให้ผลการรักษาที่ดีและมีผลข้างเคียงจากการรักษาที่ยอมรับได้

แหล่งข้อมูล:

  1. J Med Assoc Thai 2017.100(7):748-57