คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนระบาดวิทยาของก้อนเนื้อในช่องอก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-273

      

      ในช่องอก(เนื้อเยื่อระหว่างปอดทั้ง 2ข้าง)จะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(เช่น หลอดเลือด เซลล์ไขมัน เส้นประสาท) ต่อมน้ำเหลือง และต่อมไทมัส ซึ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้สามารถเกิดเป็นเนื้องอก/มะเร็ง(Mediastinal mass)ได้ โดยระยะแรกที่ก้อนเนื้อขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่ถ้าก้อนเนื้อโตขึ้น อาการที่พบได้บ่อย เช่น ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก มีปัญหาทางการหายใจ เช่น หายใจลำบาก และอาจมีไข้ได้

      เนื้องอกช่องอก เป็นเนื้องอกที่พบได้น้อย และพบได้ในทุกอายุ รวมถึงมีได้หลายชนิด แต่เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาด้านระบาดวิทยาของเนื้องอกช่องอกในประเทศไทย แพทย์ในประเทศไทยจึงต้องการทราบว่า เนื้องอกช่องอกในคนไทยมีระบาดวิทยาเป็นอย่างไร และมีปัจจัยอะไรที่จะช่วยวินิจฉัยได้ว่า เนื้องอกจะเป็นชนิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองซึ่งจะมีการรักษาต่างจากเนื้องอกชนิดอื่น กล่าวคือ ไม่ต้องผ่าตัด แต่ใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษา ความต้องการทราบดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้ ที่เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย นพ. วีรภัทร โอวัฒนาพานิช แพทย์อายุรกรรมโรคเลือด และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ J Med Assoc Thai เมื่อ มิถุนายน 2560

      การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง โดยใช้ข้อมูลจากเวชรเบียนผู้ป่วยโรงพยาบาลศิริราชในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึงธันวาคม2558 ที่มีก้อนเนื้อในช่องอกและได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใดจากการตรวจก้อนเนื้อนั้นๆด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

      ผลการศึกษาพบว่า ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อในช่องอกดังกล่าวที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชทั้งหมด 332 รายจากผู้ป่วยทั้งหมด3,107,341ราย คิดเป็น0.01%ของผู้ป่วยทั้งหมด ผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ย 47.4 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 1.3 เท่า โดยผู้ป่วยประมาณ70% มาพบแพทย์โดยมีอาการ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ หายใจลำบาก(38%) ไอเรื้อรัง(37%) น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้(27%) เจ็บหน้าอก (23%) มีใบหน้าบวมจากก้อนเนื้อกดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอก 13% กล้ามเนื้ออ่อนแรง(10%) คลำต่อมน้ำเหลืองทั่วตัวได้ 9% มีไข้(9%) และมีเสียงแหบ9% ผลพยาธิวิทยาของก้อนเนื้อพบเป็นเนื้องอกต่อมไทมัสสูงสุด คือ 48.5%, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 21.7%, มะเร็งชนิดต่างๆที่แพร่กระจายมายังช่องอก(เช่น มะเร็งปอด มะเร็งระบบทางเดินอาหาร) 12.9% เนื้องอกเจิมเซลล์(Germ cell tumor) 9%, เนื้อเยื่อต่อมไทรอยด์ 0.9%, และเนื้องอกอื่นๆรวมกัน 9.6%(เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง, เนื้องอกเส้นประสาท) และปัจจัยที่ช่วยในการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ผู้ป่วยอายุน้อย มักต่ำกว่า 35 ปี มีไข้ มีต่อมน้ำเหลืองในช่องอกโต และมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจที่วินิจฉัยได้จากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด

      สรุป ผลการศึกษา ในผู้ป่วยไทย ก้อนเนื้อในช่องอก เป็นโรคพบได้น้อย ถ้าเกิดในผู้ใหญ่ มักเป็นก้อนเนื้อของต่อมไทมัส แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็ก มักพบเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

แหล่งข้อมูล:

  1. J Med Assoc Thai 2017;100(6):630-7