คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนการตั้งครรภ์หลังเป็นมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-269

      

มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบในสตรีวัยเจริญพันธ์ได้ ซึ่งปัจจุบัน แพทย์สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะต้นๆของโรคจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งในสตรีอายุก่อนวัยหมดประจำเดือน ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยังอยู่ในวัยตั้งครรภ์ได้/วัยเจริญพันธ์ที่รักษาหายขาดจากโรคมะเร็งเต้านมมีสูงขึ้น ซึ่งเป้าหมายหนึ่งของการรักษามะเร็งทุกชนิดโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่รักษาได้หายขาด คือ การที่ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงคนทั่วไป นั่น คือการสามารถตั้งครรภ์ และให้นมบุตรได้ จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ ที่จะศึกษาว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ตั้งครรภ์หลังการรักษามะเร็งเต้านมแล้ว มีอัตราอยู่รอด(Overall survival หรือ OS) และอัตราไม่มีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ(Disease free survival หรือ DFS) เป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาหายแล้วที่ไม่มีการตั้งครรภ์

การศึกษานี้ได้นำเสนอในที่ประชุมประจำปีของแพทย์โรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า ASCO (The American Society of Clinical Oncology) Meeting ที่จัดขึ้น ณ เมือง ชิคาโก สหรัฐอเมริการเมื่อ 2-6 June 2017 โดยเป็นการศึกษาจากคณะแพทย์ด้านอายุรกรรมโรคมะเร็งจากหลายโรงพยาบาลร่วมกันในประเทศเบลเยียม ที่นำโดย นพ. Matteo Lambertini จาก สถาบันการแพทย์ The Insitute Jules Bordet กรุง บัสเซล ประเทศเบลเยียม

การศึกษาครั้งนี้มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการศึกษาสูงสุดเมื่อเทียบกับการศึกษาอื่นๆที่เคยมีมาที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม คือ เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่โรคยังไม่แพร่กระจายที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี โดยเป็นผู้ป่วยก่อนปี ค.ศ. 2008 ทั้งหมด 1,207ราย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการเฝ้าติดตามโรคที่มีมัธยฐาน(Median follow up time) 12.5 ปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยตั้งครรภ์หลังการรักษามะเร็งเต้านม 333 ราย ไม่ตั้งครรภ์ 874 ราย และ 57%ของผู้ป่วยที่ศึกษา มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน(ER receptor/ER) เป็น บวก (ER+)

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมดที่ตั้งครรภ์และที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ มี DFS ไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p=0.15) และไม่ต่างกันในกลุ่มที่มี ER+ (p=0.68) แต่ในกลุ่มที่มี ER-, พบว่าอัตราการรอดชีวิต OS ของผู้ป่วย ER-ที่ตั้งครรภ์ ดีกว่า/สูงกว่า ของผู้ป่วยER- ที่ไม่ตั้งครรภ์ อย่างมีนัยสำคัญ(p=0.001)ซึ่งทั้งนี้ คณะผู้ศึกษาอธิบายว่า ในกลุ่ม ER-, การตั้งครรภ์ น่าจะช่วยให้ร่างกายเกิดสมดุลในฮอร์โมนเพศจนส่งผลช่วยให้ร่างกายสามารถควบคุมโรคมะเร็งเต้านมได้ดีกว่ากลุ่มไม่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่มีภาวะแท้งบุตร ก็มีอัตรารอดชีวิตได้ไม่แตกต่างกับผู้ป่วยที่ไม่แท้งบุตร หรือไม่มีการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่ม ER+ หรือ ER- (p=0.20)

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปผลการศึกษาว่า การศึกษานี้ช่วยสนับสนุนว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสามารถตั้งครรภ์ได้หลังได้รับการรักษาโรคหายแล้ว และการศึกษานี้น่าเชื่อถือด้วยมีจำนวนผู้เข้าศึกษาสูงมาก รวมถึงยังติดตามผู้ป่วยได้นานเป็น10 ปี แต่อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดที่ว่า ไม่ได้ศึกษาลึกลงไปถึงว่า ผู้ป่วยควรตั้งครรภ์เมื่อไหร่หลังการรักษาครบจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย รวมถึงในกรณีผู้ป่วยที่ ER+ ควรตั้งครรภ์หลังได้รับยาฮอร์โมนนานอย่างน้อยนานเท่าไร(เพราะโดยทั่วไป ผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะต้องได้รับยาฮอร์โมนต่อเนื่องอีกนานอย่างน้อย 5 ปี) ซึ่งคณะผู้ศึกษาได้ชี้แจงว่า ขณะนี้กำลังศึกษาต่อเนื่องว่า ผู้ป่วยกลุ่ม ER+นี้ควรได้รับยาฮอร์ในไปนานเท่าไรก่อนการตั้งครรภ์ จึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อDFSของผู้ป่วย

แหล่งข้อมูล:

  1. http://abstracts.asco.org/199/AbstView_199_189078.html [2017,Nov18].
  2. http://www.ascopost.com/News/55701 [2017,Nov18].