การเกิดมะเร็งสมองหลังการรักษาโรคสมองที่ไม่ใช่มะเร็งด้วยรังสีสามมิติเอสอาร์เอส

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-26611

ได้มีการศึกษาเล็กๆบางการศึกษาพบว่า การฉายรังสีรักษาที่สมองในโรคสมองที่ไม่ใช่มะเร็งสมองอาจเป็นสาเหตุให้เซลล์ของโรคนั้นๆที่ได้รับรังสีปริมาณสูงกลายพันธ์เป็นมะเร็งสมองได้ และเนื่องจากปัจจุบัน มีการใช้รังสีรักษาปริมาณสูงที่ฉายรังสีเพียงครั้งเดียวด้วยเทคนิค3 มิติที่เรียกว่า “รังสีศัลยกรรม(Stereotactic radiosurgery ย่อว่า SRS)”เพื่อเป็นการรักษาโรคสมองที่ไม่ใช่มะเร็งกันอย่างกว้างขวางรวมถึงในประเทศไทย ซึ่งโรคสมองที่รักษาด้วยรังสีรักษาเทคนิคนี้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม(AVM) โรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง(Meningioma) โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง โรคเนื้องอกของเส้นประสาทหู(Vestibular schwannoma) เป็นต้น แพทย์ในสหรัฐอเมริกาที่ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยSRS จึงต้องการทราบว่า SRS จะเป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุให้เกิดมะเร็งสมองติดตามมาหรือไม่

การศึกษานี้เป็นการศึกษาจากคณะแพทย์หน่วยรังสีรักษาจากโรงพยาบาลเมโย Rochester, Minnesota สหรัฐอเมริกา นำโดยศัลยแพทย์ระบบประสาทชื่อ นพ. Bruce E. Pollock โดยได้ศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา SRSที่สมองทั้งหมด 1,142 ราย ผู้ป่วยที่ได้รับการศึกษา เป็นผู้ป่วยช่วงค.ศ. 1990-2009 โดยทุกรายได้รับการติดตามโรคโดยมีค่ามัธยฐาน(Median) 9 ปีด้วยการตรวจภาพสมองด้วยรังสีวินิจฉัย ในการนี้ผู้ป่วยทุกคนไม่มีประวัติโรคทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และไม่ได้รับรังสีรักษาด้วยเทคนิคทั่วไปร่วมด้วยกับ SRS หรือเคยได้รับรังสีรักษาเทคนิคทั่วไปที่สมองมาก่อน ผลการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ทางด้านโรคมะเร็ง ชื่อ The International Journal of Radiation Oncology Biology and Physics เมื่อ เมษายน 2017

ผลการศึกษาพบว่า โรคมะเร็งที่กลายพันธ์จากโรคสมองที่ไม่ใช่มะเร็ง หลังการรักษาด้วยSRSที่ 5 ปี=0.5%(95% CI, 0.0%-0.9%), ที่ 10 ปี=0.8%(95% CI, 0.0%-1.8%), ที่ 15ปี=2.4% (95% CI, 0.0%-5.5%) โดยพบว่า โรคที่มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็ง คือ เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง แต่โอกาสการกลายพันธ์ก็ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ(p=0.2)

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า จากผลการศึกษา SRS ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เซลล์ของโรคสมองที่ได้รับการรักษาด้วย SRS กลายพันธ์ไปเป็นมะเร็ง ยกเว้น เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง แต่โอกาสเกิดก็น้อยมาก คือ ประมาณ 2.4%ที่ 15 ปีหลังได้รับ SRS จึงไม่ควรนำมาใช้เป็นข้อห้ามในการรักษาโรคเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองด้วยSRSกรณีมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ต้องใช้ SRSในการรักษาโรคเนื้องอกนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. Int J Radiation Oncol Biol Physics 2017;97(5):919-923 [2017,Nov18].