คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การทำหมันชายกับมะเร็งต่อมลูกหมาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-265

ผู้ชายหลายคนที่กังวลเกี่ยวกับข้อมูลว่า การทำหมันชายเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะมีการศึกษาขนาดเล็กรายงานว่า มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งการทำหมันชาย เป็นหัตถการทางการแพทย์ที่ทำได้ง่าย และปลอดภัยกว่าการทำหมันหญิงมาก รวมถึงการที่ฝ่ายหญิงจะต้องใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดต่อเนื่องนานหลายๆปี ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้เกิดการศึกษาในเรื่องที่ว่า การทำหมันชายเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากจริงหรือไม่

โดยเป็นการศึกษาในผู้ชายจำนวนมาก สูงถึง 84,753 คนทั้งที่ทำหมันและที่ไม่ได้ทำหมัน ในช่วงปี 1992-2000 ที่มีอายุช่วง 35-79 ปีจากประเทศในยุโรป 8 ประเทศ คือ เดนมาร์ก เนเทอร์แลนด์ กรีก เยอรมัน อิตาลี สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร และการศึกษานี้ติดตามผลเป็นระยะเวลานานเฉลี่ย 15.4ปี นอกจากนั้นยังเป็นการศึกษาแบบล่วงหน้า และยังศึกษารวมถึงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ชายทุกคนในกลุ่มศึกษา(เช่น การบริอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การออกกำลังกาย)ซึ่งทำให้การศึกษานี้มีความน่าเชื่อถือทางสถิติอย่างสูง โดยเป็นการศึกษาจากโครงการศึกษาที่มีชื่อว่า the European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition (EPIC) ทั้งนี้คณะผู้ศึกษานำโดย นักระบาดวิทยา ชื่อ Karl Smith Byrne จากมหาวิทยาลัย Oxford สหราชอาณาจักร และได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ชื่อ JCO ประจำเดือนเมษายน 2017

ผลการศึกษาพบว่า ในช่วงระยะเวลาที่ศึกษา พบมีผู้ชาย 4,377 คนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับการทำหมันเพียง 641 ราย ดังนั้น ผลการศึกษาจึงระบุว่า การทำหมันชาย ไม่ได้มีความสัมพันธ์/ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยง/ไม่เป็นสาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก และการศึกษานี้เชื่อถือได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(hazard ratio [HR], 1.05; 95% CI, 0.96 to 1.15) และยังพบว่า การทำหมันชายไม่เกี่ยวข้อง/ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดโรครุนแรง(HR, 0.83; 95% CI, 0.64-1.07)

สรุป จากการศึกษาที่เชื่อถือได้สูงนี้ ผู้ชายทุกคนที่ประสงค์จะทำหมันชาย ไม่ต้องกลัวว่า การทำหมันชายจะเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดโรครุนแรง

แหล่งข้อมูล:

  1. http://ascopubs.org/doi/full/10.1200/JCO.2016.70.0062 [2017,Oct21].