คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนการรักษามะเร็งตับด้วยการให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-260

มะเร็งตับชนิดหนึ่งที่พบบ่อยคือมะเร็งของเซลล์เนื้อเยื่อตับ ที่เรียกว่า Hepato cellular carcinoma ย่อว่า HCC เป็นมะเร็งที่มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ จากโรคตับแข็งจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และการดื่มสุรา ซึ่งมะเร็งตับขนิดนี้ยังไม่มีการตรวจคัดกรองในคนทั่วไปเพื่อให้พบโรคตั้งแต่ในระยะต้น ระยะที่จะให้ผลการรักษาที่ดีด้วยการผ่าตัด ส่วนใหญ่จึงมักพบโรคนี้ในระยะลุกลามที่ทำผ่าตัดไม่ได้ ซึ่งในผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายยังแข็งแรง การรักษามะเร็งHCC ระยะลุกลาม คือการให้เคมีบำบัดผ่านทางหลอดเลือดแดง ที่เรียกการรักษาวิธีนี้ว่า TACE (Transarterial chemoembolization) จึงเป็นที่มาของคณะศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลราชวิถี ที่นำโดย นพ.นิสิต คงศิริ ที่ได้ทำการศึกษาเพื่อดูผลการรักษา HCC ระยะลุกลาม ด้วยวิธี TACE และการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ชื่อ J Med Assoc Thailand เมื่อ มกราคม 2017

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วย HCC จำนวน44รายที่มีข้อมูลเพียงพอต่อการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ป่วยช่วงปี ค.ศ. 2008-2012 เป็นผู้ป่วยชาย 36 คน ผู้ป่วยหญิง 8 คน อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ที่ 56.3ปี (ช่วง 30-75ปี)

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมีมัธยฐาน(Median)ของอัตราอยู่รอดเป็น 7.1 เดือน ซึ่งใกล้เคียงกับผลการศึกษาจากต่างประเทศ และพบว่า ผลข้างเคียงจากวิธีรักษานี้ที่พบได้บ่อย คือชนิดที่เรียกว่า Post-embolization syndrome ย่อว่า PES โดยพบได้ 88.6%ของผู้ป่วย พบภาวะตับวาย 18.2% ที่กรณีนี้เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ 6.8%

อนึ่ง Post-embolization syndrome คือ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมงหลังการรักษาด้วย TACE โดยอาการได้แก่ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับขนาดของก้อนมะเร็ง HCC และอาการเหล่านี้จะค่อยกลับมาเป็นปกติภายในประมาณ 3 วันด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการ

แหล่งข้อมูล:

  1. Nisit Tongsiri et al. J Med Assoc Thai. 2017; 100(1):33-41
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25923439[2017,Sept16]