คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การรักษาด้วยฮอร์โมนไม่ทำให้เกิดสมองเสื่อมในมะเร็งต่อมลูกหมาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

วิธีการสำคัญในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม นอกจาก การผ่าตัด และรังสีรักษาแล้ว การรักษาด้วยฮอร์โมน(Androgen deprivation therapy/ ADT)ก็เป็นอีกวิธีการสำคัญ แต่มีการศึกษาหลายการศึกษาที่ศึกษาในผู้ป่วยจำนวนไม่มาก พบว่า การรักษาด้วยฮอร์โมน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดสมองเสื่อม(Dementia) หรืออัลไซเมอร์ในผู้ป่วยได้

การศึกษานี้เป็นการศึกษาที่เฝ้าติดตามผู้ป่วยที่เรียกว่า Observational population based study ในผู้ป่วยจำนวนมากจากสหราชอาณาจักรที่รวบรวมข้อมูลจาก the United Kingdom’s Clinical Practice Research datalink คณะผู้ศึกษานำโดยนักระบาดวิทยา ชื่อ Farzin Khosrow-Khavar ซึ่งศึกษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ยังไม่มีโรคแพร่กระจายไปอวัยวะอื่น ทั้งหมด 30, 903 รายในช่วงปีค.ศ. 1988-2015 โดยติดตามผู้ป่วยได้นานเฉลี่ย 4.3 ปี ซึ่งการศึกษานี้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Journal of Oncology ที่ตีพิมพ์ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ 10 มกราคม 2017

ผลการศึกษาพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีอาการของสมองเสื่อม คิดเป็น 6 รายต่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 1,000 คน โดยพบในผู้ป่วยที่รักษาด้วยฮอร์โมน 7.4 รายต่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก1,000 ราย และพบในผู้ป่วยที่ไม่ใช้ฮอโมน 4.4รายต่อผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 1,000 ราย ซึ่งอุบัติการของการเกิดสมองเสื่อมในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p= 0.78)

คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษาว่า อย่างไรก็ดี ควรทำการศึกษาซ้ำในผู้ป่วยจำนวนมากเช่นกันจากสถาบันอื่นๆ หรือจากประเทศอื่นๆ เพื่อยืนยันผลการศึกษาครั้งนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. http://ascopubs.org/doi/pdf/10.1200/JCO.2016.69.6203 [2017, July 09].