คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน รักษามะเร็งเต้านมที่ย้อนกลับมาเป็นอีกอย่างไร: ตอน 3

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

วิธีรักษามะเร็งเต้านมที่เกิดเป็นซ้ำที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้เต้านมด้านที่เป็นมะเร็ง(Regional recurrence):

ต่อมน้ำเหลืองใกล้เต้านม คือ ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือต่อมน้ำเหลืองที่เหนือไหปลาร้าด้านเดียวกับที่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งเมื่อมีโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำเฉพาะที่ตำแหน่งนี้ หลังจากการตรวจร่างกาย และตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อให้แน่นอนว่า โรคเกิดเป็นซ้ำเฉพาะตำแหน่งดังกล่าว(Regional recurrence)

แนวการรักษากรณีโรคเกิดเป็นซ้ำ แบบ Regional recurrence คือ

ก. กรณีเกิดเป็นซ้ำหลังการรักษาครั้งแรกเป็นการรักษาแบบเก็บเต้านมไว้:

การรักษากรณี Regional recurrence คือการผ่าตัดเต้านมออก ร่วมกับการผ่าตัดก้อนมะเร็งที่เกิดซ้ำออก หลังจากนั้นจะตามด้วยการฉายรังสีรักษาบริเวณเต้านมและต่อมน้ำเหลืองเหล่านั้นในกรณีที่ไม่เคยได้รับรังสีรักษามาก่อน และจะมีการตรวจก้อนเนื้อที่ตัดออกมาทางพยาธิวิทยา ว่าใช่มะเร็งชนิดเดิมหรือไม่ รวมกับการตรวจเพื่อดูการจับฮอร์โมนของเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า Hormone receptor ว่าเป็นชนิด จับฮอร์โมน(ฮอร์โมน+ หรือ ER+ และ/หรือPR+) หรือ ไม่จับฮอร์โมน(ฮอร์โมน- หรือ ER- และ/หรือ PR-) และดูว่าเป็นมะเร็งชนิดที่มีจีน/ยีนที่เรียกว่า HER2 หรือไม่(HER+ หรือ HER-) และมักร่วมกับการได้รับยาฮอร์โมน ถ้าเซลล์มะเร็ง เป็นชนิด ER+ และ/หรือ PR+,

และถ้าผลพยาธิวิทยาพบว่า มะเร็งที่ย้อนกลับเป็นซ้ำมีปัจจัยเสี่ยงต่อการลุกลามแพร่กระจาย การรักษามักมีการให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วยตามมา และแพทย์อาจพิจารณาการรักษาต่อเนื่องด้วยยารักษาตรงเป้าในผู้ป่วยที่มี Her2 + กรณีมีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการลุกลามแพร่กระจายของโรค

ข. กรณีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำแบบ Regional recurrence หลังการรักษาครั้งแรกเป็นการรักษาโดยการตัดเต้านมออก การรักษากรณีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำแบบ Regional recurrence คือ การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อที่เกิดเป็นซ้ำออก แล้วตามด้วยการฉายรังสีรักษาที่ตำแหน่งเต้านมที่ผ่าตัดไปแล้ว และที่ตำแหน่งต่อมน้ำเหลืองรักแร้และต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้ากรณียังไม่เคยได้รับรังสีรักษามาก่อน และจะมีการรักษาต่างๆต่อเนื่อง เช่น ฮอร์โมน และ/หรือ ยาเคมีบำบัด และ/หรือ ยารักษาตรงเป้า เช่นเดียวกับที่กล่าวในข้อ ก.

ทั้งนี้ การใช้ฮอร์โมน และยาเคมีบำบัด แพทย์อาจใช้ยาตัวเดิมที่ผู้ป่วยเคยได้รับการรักษาไปแล้ว หรือเปลี่ยนเป็นยาตัวใหม่ ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยต่างๆที่เป็นตัวบอกว่า มะเร็งที่เกิดเป็นซ้ำนั้น ดื้อต่อยาเหล่านั้นหรือเปล่า เช่น การเกิดมะเร็งเป็นซ้ำเกิดนานเท่าไรหลังได้รับยาเหล่านั้น เป็นต้น ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะพิจารณาตัวยาเป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย

อนึ่ง การพยากรณ์โรคของผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักอยู่ในเกณฑ์ดีปานกลาง