คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มอัตราเสียชีวิตจากมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่ไม่ใช่การปลูกถ่ายไขกระดูก (Solid organ transplant recipient) เช่น ไต ตับ หัวใจ และปอด จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิตด้วยยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต้านอวัยวะใหม่ ซึ่งการที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันฯที่ต่ำลงนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้เกิดมะเร็งได้สูงกว่าประชากรทั่วไป คณะแพทย์ผู้รักษา ซึ่งนำโดย นพ. Sergio. A. Acuna แห่งรัฐ Ontario ประเทศ แคนาดา จึงต้องการทราบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่เป็นมะเร็งที่เกิดภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะแล้ว จะมีอัตรารอดจากโรคมะเร็งเป็นอย่างไร ซึ่งผลการศึกษาในเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต ในวารสารการแพทย์ JAMA Oncology เมื่อ มกราคม 2016

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลังจากข้อมูลจาก Canadian Organ Replacement Register, จาก the Ontario Cancer Registry, และจาก the Office of the Registrar General of Ontario death database โดยเป็นข้อมูลช่วงปี 1991-2010 และติดตามผู้ป่วยถึงปี 2011

ผลการศึกษาพบว่า ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีผู้ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะใน Ontario ทั้งหมด 11,061ราย มีทั้งผู้ป่วยเปลี่ยนไต,เปลี่ยนตับ,เปลี่ยนหัวใจ,และ เปลี่ยนปอด ผู้ป่วยมีอายุช่วง 35-58ปี เฉลี่ยอายุ 49 ปี และ 36.2% เป็นผู้ป่วยหญิง จากการติดตามผู้ป่วย พบมีผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเสียชีวิตทั้งหมด 3,068 ราย, เสียชีวิตจากมะเร็ง 603ราย คิดเป็นประมาณ 20%ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป พบว่าผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะที่เป็นมะเร็ง มีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะอะไร หรือในกลุ่มอายุเท่าไร

ดังนั้นคณะแพทย์ผู้ศึกษา จึงสรุปว่า ควรต้องมีการศึกษาหาวิธีรักษามะเร็งวิธีการใหม่ๆที่จะช่วยให้ผลการรักษามะเร็งในผู้ป่วยกลุ่มผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะมีประสิทธิภาพขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ควรต่ำกว่าผลการรักษามะเร็งในคนทั่วไป

บรรณานุกรม

1. http://oncology.jamanetwork.com/article.aspx?articleid=2479664 [2016,Jan14].