คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษาแผลเป็นนูนด้วยรังสีรักษา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

แผลเป็นนูน(Keloid) เป็นภาวะที่เกิดจากมีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากเกินปกติกรณีเมื่อเกิดเป็นแผลขึ้น ซึ่งมีการรักษาได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด การใช้ยาต่างๆ และรังสีรักษา/การฉายรังสีรักษา ซึ่งเรื่องที่จะเล่าสู่กันฟังนี้ เป็นการศึกษาถึงผลของการรักษาแผลเป็นนูนโดยการผ่าตัด แล้วรักษาต่อเนื่องตามด้วยการฉายรังสีรักษา

การศึกษานี้ โดยคณะแพทย์ที่นำโดย นพ. Paul B Renz จาก โรงพยาบาล Botsford Cancer Center สหรัฐอเมริกา และได้นำเสนอในที่ประชุมสมาคมทางรังสีรักษาแห่งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 98 สมาคมชื่อ American Radium Society ณเมือง Philadelphia เมื่อ 16-19 เมษายน 2016

ทั้งนี้ได้ศึกษาผู้ป่วยแผลเป็นนูนทั้งหมด 107 ราย(มีรอยโรคทั้งหมด 201 รอยโรค) ผู้ป่วยทุกรายได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาแผลเป็นนูนออก หลังจากนั้นได้รับการฉายรังสีรักษาที่รอยแผลผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้รับรังสีรักษา 1,200 หน่วย/cGyใน3วันติดต่อกัน(วันละ 400cGy) และผู้ป่วยจากอีกโรงพยาบาลได้รับรังสีรักษา 2,000cGyใน 5 วันติดต่อกัน(วันละ 400cGy เช่นกัน)

ผลการศึกษาผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มพบว่า มีแผลเป็นนูนเกิดเป็นซ้ำอีก 4%เท่ากัน (p=0.94) และปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแผลเป็นนูนซ้ำได้แก่ แผลเป็นนูนมีขนาดใหญ่, เป็นแผลเป็นนูนที่เกิดที่หู และที่เกิดในตำแหน่งที่ร่างกายมีการเคลื่อนที่เสมอ เช่น ที่หัวไหล่ ทั้งนี้ การรักษาในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย และไม่แตกต่างกัน

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า การใช้การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาเป็นอีกวิธีรักษาภาวะแผลเป็นนูน และปริมาณรังสีที่ใช้รักษาในทั้ง 2 โรงพยาบาล ให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกันทั้งในการควบคุมรอยโรค และในด้านผลข้างเคียงจากการผ่าตัดและ/หรือจากรังสีรักษา

บรรณานุกรม

1. http://www.cancernetwork.com/ars-2016/15-year-review-radiation-therapy-keloids-two-institutions [2016,Dec17].