คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน มะเร็งเต้านมกับการสูบบุหรี่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งเต้านมกับบุหรี่ครั้งนี้ เนื่องจากนักระบาดวิทยาโรคมะเร็งต้องการทราบว่า การสูบบุหรี่ ก่อน และหลัง การรักษาโรคมะเร็งเต้านม จะส่งผลอย่างไรกับอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม โดยเป็นการศึกษาจากคณะนักระบาดวิทยา นำโดย ดร. Michael N Passarelli จาก มหาวิทยาลัย University of California , San Francisco ซึ่งเป็นการศึกษาในโครงการ Collaborative Breast Cancer and Women’s Longevity Study โดยใช้การเฝ้าติดตามผู้ป่วยแบบล่วงหน้า ที่เรียกว่า Population based prospective observational study ทั้งนี้เป็นการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด 20,691 รายในช่วงปี 1988-2008 ซึ่งผู้ป่วยมีอายุอยู่ในช่วง 20-79 ปี ทั้งนี้ติดตามผู้ป่วยได้นานที่มัธยฐาน(Median) 12 ปี และการศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ชื่อ Journal of Clinical Oncology (JCO) ฉบับเดือน เมษายน 2016

ผลการศึกษาพบว่า

  • ผู้ป่วยที่มีการสูบบุหรี่ต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปีก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม มีอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่เคยสูบบุหรี่
  • ผู้ป่วยที่ยังคงสูบบุหรี่ต่อเนื่องหลังการรักษามะเร็งเต้านม มีอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม สูงกว่าผู้ป่วยที่หยุดสูบบุหรี่ หรือ ไม่เคยสูบบุหรี่

จากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคน ต้องตระหนักว่า การสูบบุหรี่ทั้งก่อนและ หลังการรักษามะเร็งเต้านม ที่น่าจะรวมไปถึงการสูบบุหรี่มือสอง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม อาจจากมะเร็งเต้านมย้อนกลับเป็นซ้ำ และ/หรือลุกลามแพร่กระจาย แต่การเลิกสูบบุหรี่ หรือการไม่สูบบุหรี่หลังการรักษามะเร็งเต้านม ก็เป็นปัจจัยช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลงได้

บรรณานุกรม

1. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26811527 [2016,Dec17].