คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมย้อนกลับเป็นซ้ำ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิงทั่วโลก และเมื่อโรคอยู่ในระยะที่ไม่รุนแรงคือ ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เป็นโรคระยะที่ก้อนเนื้อที่เต้านมไม่ลุกลามมาก(Operable disease) และ/หรือถ้าลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองต้องลุกลามไม่เกิน 3 ต่อม ผลการรักษาได้หายขาดมักสูง ผู้ป่วยมีโอกาสอยู่ได้นานเป็นสิบๆปี ดังนั้นแพทย์จึงต้องการศึกษาว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ เมื่ออยู่ได้นานๆมีโอกาสที่โรคจะย้อนกลับเป็นใหม่ได้อีกไหม

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาร่วมกันโดยคณะแพทย์จากหลายประเทศ จากสถาบันด้านโรคมะเร็งในประเทศยุโรป European Institute of Oncology and International Breast study group ที่ตั้งอยู่ในประเทศอิตาลี นำโดย นพ. Marco Colleoni ซึ่งศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจากยุโรปหลายประเทศ รวมกันทั้งหมด 4,105ราย เป็นผู้ป่วยในช่วงปี ค.ศ. 1978-1985 แลติดตามผลการรักษาได้นาน 24 ปี(Median follow up) การศึกษานี้ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง คือ Journal of Clinical Oncology และตีพิมพ์ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ 19 มกราคม 2016

ผลการศึกษาพบว่า อัตราการย้อนกลับเป็นซ้ำจะสูงสุดในช่วง 5ปีแรกหลังการวินิจฉัยโรคได้ คือ 10.4% โดยพบสูงสุดในช่วง 2 ปีหลังการวินิจฉัยโรค คือ 15.2% ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีแรกนี้ โอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มที่มีผลบวกต่อฮอร์โมนเพศ(Estrogen receptor positive หรือ ER+) จะมีโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำต่ำกว่าผู้ป่วยกลุ่ม ER เป็นลบ (ER-)อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 9.9% ต่อ 11.5%(p=0.01) แต่หลัง 5 ปีไปแล้ว ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มยังมีโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้แต่ในอัตราที่ลดลง(อยู่ในช่วง 1.2-5.4%) และตรงกันข้ามกับในช่วง 5 ปี คือ ผู้ป่วยกลุ่ม ER+ มีโอกาสที่โรคจะย้อนกลับเป็นซ้ำสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่ม ER- อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.001) แต่หลัง 10ปีไปแล้ว โอกาสที่ผู้ป่วยกลุ่ม ER- มีโอกาสเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำลดลง ในขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วย ER+ โอกาสเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำจะคงที่ คือ 1.1-2.1%ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีโรคลุกลามเช้าต่อมน้ำเหลือง และ 1.5-3.5%ในผู้ป่วยที่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง

คณะผู้ศึกษา สรุปผลการศึกษาว่า ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาโรคได้หายขาด ผู้ป่วยกลุ่ม ER- จะมีอัตราการย้อนกลับเป็นซ้ำได้ต่ำหลังจาก 5 ปีไปแล้ว แต่กลุ่ม ER+ ยังมีโอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้ 1.1-3.5%

จากการศึกษานี้ จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะติดตามโรคได้นานถึง 24 ปี ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาหายแล้วก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคย้อนกลับเป็นซ้ำได้ถึงแม้โอกาสจะไม่สูงมากนัก ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคนจึงควรต้องดูแลสุขภาพตามที่แพทย์แนะนำเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ กินแต่อาหารมีประโยชน์ ดูแลรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกิดโรคอ้วน และไม่สูบบุหรี่ที่รวมถึงการสูบบุหรี่มือสอง

บรรณานุกรม

1. http://jco.ascopubs.org/content/early/2016/02/05/JCO.2015.64.3205.abstract?related-urls=yes&legid=jco;JCO.2015.64.3205v1 [2016,Nov19].