คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนค่าไวตามินดีในเลือดกับมะเร็งต่อมลูกหมาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งของชายสูงอายุ มักพบในช่วงอายุอย่างน้อย 50 ปีขึ้นไป จะยิ่งพบสูงขึ้นเมื่ออายุ ตั้งแต่ 65ปีขึ้นไป และโดยทั่วไปเป็นมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรคไม่รุนแรง เซลล์มะเร็งเติบโตช้ามากโดยเฉพาะในมะเร็งระยะต้นๆคือระยะที่1 และประกอบกับมักเกิดในผู้สูงอายุที่อายุมากแล้วที่มักมีโรคประจำตัวต่างๆที่จะเป็นอุปสรรคต่อการรักษา ซึ่งการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่1 คือ

  • การผ่าตัดต่อมลูกหมากร่วมกับการตัดต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกไปด้วย หรือ
  • การใช้รังสีรักษา ซึ่งอาจเป็นการฉายรังสี หรือเป็นการฝังแร่

แต่การรักษาต่างๆเหล่านี้ มักส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย และจากที่กล่าวแล้วในตอนต้นว่า โดยทั่วไปมะเร็งชนิดนี้โตช้ามากและมีธรรมชาติของโรคไม่รุนแรง ดังนั้นทางเลือกวิธีที่ 3 ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 1 คือ

  • การเฝ้าติดตามโรค โดยถ้าโรค/ก้อนมะเร็งไม่โตขึ้น หรือสารมะเร็งในเลือดไม่สูงขึ้น ก็ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดหรือใช้รังสีรักษา แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือรังสีรักษาต่อเมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้น หรือสารมะเร็งในเลือดสูงขึ้น

ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ที่แพทย์ต้องการทราบว่า มีปัจจัยอะไรหรือไม่ที่จะใช้ช่วยพยากรณ์ล่วงหน้าแทนการเฝ้ารอว่า มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่1ในผู้ป่วยรายใดที่มีธรรมชาติของโรครุนแรงที่สมควร/คุ้มค่าที่จะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือรังสีรักษาโดยไม่ควรเสียเวลาใช้ทางเลือกที่3 คือการเฝ้าติดตามโรค

การศึกษานี้เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างแพทย์ระบบศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะจากหลายโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำโดย นพ. Yaw A Nyame และการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ชื่อ The Journal of Clinical Oncology(JCO) และได้เผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ทเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 โดยเป็นการศึกษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่1 ทั้งหมด 190 ราย ในช่วงปีค.ศ. 2009-2014 ที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดต่อมลูกหมาก และผู้ป่วยทุกรายได้รับการตรวจเลือดดูค่าวิตามิน ดี(การศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า อาจสัมพันธ์กับความรุนแรงของมะเร็งต่อมลูกหมาก)ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีผลการตรวจทางพยาธิวิทยาจากก้อนมะเร็งหลังผ่าตัดที่บ่งบอกว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดรุนแรงจะมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำกว่าปกติ(ต่ำกว่า 30ng/ml)อย่างมีนัยสำคัญ(p= 0.007)เมื่อเปรียนบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีผลการตรวจก้อนมะเร็งทางพยาธิวิทยาพบว่าเป็นมะเร็งชนิดไม่รุนแรง

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ค่าระดับวิตามินดีในเลือดของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจเป็นปัจจัยสำคัญช่วยแพทย์ในการตัดสินใจให้การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่1 ด้วยการผ่าตัดหรือรังสีรักษาแทนการเลือกใช้วิธีเฝ้าติดตามอาการ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่1ว่าจะรักษาด้วยวิธีการใดระหว่างทั้ง3วิธีหลักดังกล่าว แพทย์จะไม่ตัดสินจากปัจจัยเดียว แต่จะตัดสินจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น

  • อายุของผู้ป่วย
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
  • ผลชิ้นเนื้อเป็นเซลล์แบ่งตัวช้าหรือเร็ว
  • การตรวจต่อมลูกหมาก โดยการตรวจทางทวารหนักให้ผลอย่างไร
  • การตรวจภาพต่อมลูกหมากจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร และ
  • ผลการตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งให้ผลสูงหรือปกติ

ซึ่งถ้าระดับวิตามินดีในเลือดได้รับการศึกษายืนยันแน่ชัดว่า เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ต่อไปในอนาคต แพทย์คงใช้ค่านี้เป็นอีกปัจจัยร่วม ช่วยการตัดสินใจเพื่อให้ได้วิธีรักษามะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่1 ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด

บรรณานุกรม

1. 1. http://jco.ascopubs.org/content/early/2016/02/17/JCO.2015.65.1463.abstract [2016,Oct15].