คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน ปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากมะเร็งโพรงหลังจมูกในเด็ก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งโพรงหลังจมูกในเด็กเป็นโรคพบได้น้อยมาก ดังได้คุยให้ทราบเมื่อตอนที่แล้ว แต่ที่จะเล่าในตอนนี้ คือ มีการศึกษาที่ศึกษาดูปัจจัยว่า อะไรที่นอกเหนือจากระยะโรคจะมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตของเด็กที่เป็นมะเร็งนี้

เป็นการศึกษาของคณะแพทย์จากเมืองต่างๆร่วมกันในสหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. Morgan K Richards ที่ตีพิมพ์ลวงหน้าในอินเทอร์เน็ตเมื่อ 14 มกราคม 2016 ในวารสารการแพทย์ชื่อ JAMA Otolaryngol Head Neck Surg

การศึกษานี้เป็นการศึกษาย้อนหลัง Retrospective cohort study จากผู้ป่วยมะเร็งโพรงหลังจมูก(Nasopharyngeal carcinoma, NPC) ทั้งหมด 17,317รายที่เป็นข้อมูลจาก National Cancer Data base ช่วง 1 มกราคม 1998 ถึง 31 ธันวาคม 2011 จากผู้ป่วยทั้งหมดมีป่วยเด็กโรคมะเร็งนี้ 699ราย(หมายถึงอายุ ต่ำกว่า 21 ปี) ซึ่งคณะผู้ศึกษาได้ศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วย 2 กลุ่มอายุนี้ คือ ผู้ใหญ่ และเด็ก

ผลการศึกษาพบว่า

  • มะเร็งชนิดนี้พบในผู้หญิงน้อยกว่าในผู้ชายเหมือนกันทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ในเด็กพบเป็นผู้หญิง 34.2% ในผู้ใหญ่ พบเป็นผู้หญิง 32.4%
  • ในเด็กพบโรคเกิดในเด็กผิวดำสูงสุด(43.6%)มากกว่าเด็กเอเซีย ซึ่งต่างจากในผู้ใหญ่ที่พบมากในคนผิวขาว(60%) โดยต่างกันอยางมีความสำคัญทางสถิติ(p<0.001)
  • ในเด็กพบโรคระยะลุกลาม(ระยะ4 ที่โรคยังไม่แพร่กระจายไปอวัยวะอื่น)สูงกว่าในผู้ใหญ่ 58.4% vs 47.8% ต่างกันอย่างมีความสำคัญทางสถิติ(p< 0.001)
  • เด็กมีอัตราเสียชีวิตจากโรคนี้น้อยกว่าผู้ใหญ่ (HR=0.37) โดยเชื้อชาติไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออัตราเสียชีวิตของเด็ก(HR=1.10)

คณะผู้ศึกษา สรุปว่า ในสหรัฐอเมริกา เด็กโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งนี้ต่ำกว่าโรคนี้ที่เกิดในผู้ใหญ่ทั้งๆที่พบโรคในระยะที่ลุกลามมากกว่า และไม่พบว่า เชื้อชาติของเด็กเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้

การศึกษานี้ ช่วยยืนยันว่า การพยากรณ์โรคมะเร็งโพรงหลังจมูกในเด็กดีกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งผู้เขียนคิดว่า อาจจากการที่มะเร็งชนิดนี้ในเด็กมักตอบสนองต่อรังสีรักษาและ/หรือต่อยาเคมีบำบัดที่เป็นวิธีรักษาโรคนี้ได้ดีกว่าในผู้ใหญ่

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26769566 [2016,Sept17].