คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การดูแลกลิ่นจากทวารเทียมในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

เมื่อเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ต่ำมากๆหรือมะเร็งทวารหนัก การรักษาด้วยการผ่าตัด อาจจำเป็นต้องผ่าตัดในบริเวณกว้างจนทำให้แพทย์ต้องตัดทวารหนักออกทั้งหมด ส่งผลให้แพทย์ต้องทำทางออกของอุจจาระให้ผู้ป่วยใหม่โดยนำปลายลำไส้ใหญ่ส่วนที่เหลือเปิดออกสู่ภายนอกร่างกายตรงบริเวณหน้าท้องน้อย เป็นทางออกของอุจจาระแทน ซึ่งเรารู้จักกันดีและเรียกว่า ทวารเทียม (Colostomy)

เมื่อแพทย์แนะนำการผ่าตัดลักษณะนี้ ไม่ต้องกลัว หรือกังวลนะคะ ทุกคนจะปรับตัวได้ในเร็ววัน และทุกคนจะมีชีวิตอยู่กับการทีทวารเทียมได้อย่างใกล้เคียงปกติ ดูแลตนเองได้ดี ทำงานและเข้าสังคมได้ตามปกติเมื่อได้เรียนรู้ว่า อยู่บ้านควรทำอย่างไร ออกนอกบ้านควรทำอย่างไร

การดูแลเมื่อมีทวารเทียม จะมีคุณพยาบาลที่ทำงานด้านนี้ ช่วยอธิบายและสอน วิธีใช้ถุงหน้าท้อง วิธีถ่ายอุจจาระออกจากถุง การปิดถุงใหม่ การทำความสะอาดถุง การดูแลผิวหนังตรงส่วนที่เปิดลำไส้ออก และการดูแลรักษาความสะอาดลำไส้ส่วนที่เปิดออกหน้าท้อง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก แต่อาจต้องใช้เวลา เราต้องยอมรับว่า ไม่มีใครคุ้นเคยหรือรู้มาก่อน ค่อยๆฝึก ให้เวลากับตนเอง ในที่สุดทำกันได้ดีทุกคนคะ ซึ่งเมื่อต้องมีทวารเทียม ก่อนออกจากโรงพยาบาล ควรฝึกกับคุณพยาบาลจนมั่นใจและสามารถทำได้ด้วยตนเองนะคะ ไม่ต้องกลัว หรือเกรงใจที่จะถาม จดคำถามที่สงสัยไว้ จะได้ถามคุณพยาบาลได้ครบถ้วนถูกต้อง รวดเร็ว (พวกหมอ พยาบาล มีผู้ป่วยมาก จึงจำเป็นต้องทำงานอย่างรวดเร็ว ถ้าผู้ป่วยเตรียมตัวมาบ้าง ก็จะเข้าใจได้ดีและได้รวดเร็วขึ้น) ซึ่งถ้าผู้ป่วยเรียนรู้ ยอมรับ และปรับตัว ผู้ป่วยจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติรวมทั้งในเรื่องของเพศสัมพันธ์ เพราะร่างกายเรา รวมทั้งการทำงานของลำไส้ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนและปรับเปลี่ยนได้คะ

แต่สิ่งที่อยากเล่าสู่กันฟัง คือ เรื่องการมีกลิ่นออกจากถุง จนทำให้ผู้ป่วยบางคนไม่กล้าออกจากบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง คนใกล้ตัวก็ไม่กล้าบอกผู้ป่วยคะ

เมื่อมีทวารเทียม กลิ่นเกิดได้จาก 2 กรณีคือ กลิ่นจากอุจจาระ และกลิ่นจากถุงพักอุจจาระเนื่องจากรักษาความสะอาดไม่ดีพอ

  • กลิ่นของอุจจาระ มักเกิดจากประเภทอาหารที่บริโภค ที่ก่อให้เกิดกลิ่นหรือก่อให้เกิดแก๊สที่มีกลิ่น

    อาหารที่ให้กลิ่น ที่พบบ่อย คือ เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ผักที่มีกลิ่นแรง (เช่น สะตอ ชะโอม หัวหอม ต้นหอม ขึ้นฉ่าย กะหล่ำ บรอคโคลิ ถั่วต่างๆ) ผลไม้ที่มีกลิ่นแรง (เช่น ทุเรียน)

    อาหาร/เครื่องดื่ม ที่ให้แก๊สมาก เช่น น้ำอัดลม เบียร์ อาหารที่กระเพาะ/ลำไส้มักย่อยไม่หมด เช่น ข้าวโพด กะหล่ำ มะพร้าว สัปปะรส ลูกนัท เปลือกผลไม้ และเห็ดบางชนิด

    นอกจากนั้นคือ เมื่อเป็นอุจจาระจากการมี ท้องเสีย หรือ การมีท้องผูก ก็จะก่อให้เกิดกลิ่นได้ ดังนั้นจึงต้องดูแลตนเอง เพื่อป้องกันการเกิด ท้องเสีย หรือท้องผูก (อ่านการดูแลตนเองได้ ในบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง ท้องเสีย และเรื่องท้องผูก) และ

    การถ่ายอุจจาระออกจากถุงเสมอ ลดการสะสมของอุจจาระในถุง ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดกลิ่นอุจจาระ

  • กลิ่นจากตัวถุง คือ การรักษาความสะอาดถุงเก็บอุจจาระไม่ดีพอ ดังนั้น ผู้มีทวารเทียมต้องเรียนรู้วิธีดูแลรักษา และทำความสะอาดถุงเก็บอุจจาระจากพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วย ให้เข้าใจถ่องแท้

สรุปการดูแลตนเอง ที่สำคัญ เพื่อการลดกลิ่นจากอุจจาระในถุงเก็บอุจจาระ คือ

  • หลีกเลี่ยง จำกัด อาหาร เครื่องดื่มดังกล่าว ประมาณ 1 วันก่อนออกจากบ้าน
  • หลีกเลี่ยง หรือจำกัดอาหาร เครื่องดื่มประเภทดังกล่าวในช่วงวันเวลาที่ต้องทำงาน หรือเข้าสังคม
  • ป้องกันภาวะท้องเสีย และท้องผูก
  • รีบถ่ายอุจจาระทิ้งเมื่อมีอุจจาระในถุงก่อนออกจากบ้าน
  • เมื่ออยู่ในสังคมพยายามอย่าให้มีอุจจาระค้างในถุง
  • สังเกตชนิดอาหาร เครื่องดื่ม ยา และปริมาณอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ที่บริโภคว่า อะไรเพิ่ม หรือ ลดกลิ่นกลิ่น จำกัด และหลีกเลี่ยงเมื่อต้องใช้ชีวิตนอกบ้าน
  • อาหารที่อาจช่วยลดกลิ่นได้ คือ โยเกิร์ต น้ำแคนเบอรรี (Cranberry juice)
  • รักษาความสะอาดถุง และผิวหนังรอบๆถุง ไม่ให้มีอุจจาระตกค้าง
  • ควรรีบพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เมื่อ
    • ปวดท้องมาก โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับ คลื่นไส้ อาเจียน
    • ไม่มีอุจจาระออกนานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับอาการปวดท้อง
    • ลำไส้หรือผิวหนังบริเวณที่ลำไส้ออกมา/บริเวณทวารเทียม เขียวคล้ำ และ/หรือซีด
    • มีเลือดออกอาจจากผิวหนังบริเวณทวารเทียม ลำไส้ หรืออุจจาระเป็นเลือด
    • ลำไส้หรือผิวหนังบริเวณทวารเทียม บวม แดง ร้อน ปวด/เจ็บ มีแผล หนอง สารคัดหลั่ง และ/หรือมีผื่น
    • ลำไส้หดหายไปในช่องท้อง
    • ลำไส้หลุดออกมาทางหน้าท้องมากผิดปกติ
    • ท้องเสียไม่หยุด

อนึ่ง ในเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม แต่ละคนจะก่อให้เกิดอาการ หรือกลิ่น ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องสังเกตเอง และปรับตัวไปตามนั้น ที่ยกตัวอย่าง เป็นเพียงของคนส่วนใหญ่และเป็นเพียงบางชนิดที่พบทั่วไปเท่านั้น

แหล่งข้อมูล:

  1. http://www.mayoclinic.com/health/ostomy/SA00072/NSECTIONGROUP=2