คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนมะเร็งรังไข่กับความผิดปกติทางพันธุกรรม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งพบบ่อยชนิดหนึ่งในผู้หญิงสหรัฐอเมริกา แพทย์กลุ่มนี้ที่นำโดย พญ. Babara. M. Norquist จากมหาวิทยาลัย the University of Washington ใน Seattle(UW) สหรัฐอเมริกา จึงได้ทำการศึกษาโดยการตรวจ DNA/ดีเอนเอ ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่(ซึ่งในที่นี้รวมมะเร็งทุกชนิดที่มีธรรมชาติของโรคเหมือนกัน คือ มะเร็งรังไข่ มะเร็งท่อนำไข่ และมะเร็งเยื่อบุช่องท้อง) จำนวน 1,915 ราย เพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือยีน/จีน/Gene เปรียบเทียบกับจีนของผู้ป่วยโรคอื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็งที่เคยศึกษาไว้ในโครงการ National Heart, Lung, and Blood Institute GO Exome Sequencing Project(ESP) and the Exome Aggregation Consortium (EXAC) การศึกษานี้ตีพิมพ์ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ตเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ในวารสารการแพทย์ชื่อ JAMA Oncology

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่กลุ่มศึกษา มีจีนผิดปกติรวมทั้งหมดประมาณ 18% ซึ่งจีนผิดปกติที่พบเป็นชนิด BRCA I และชนิด BRCA II 15%, ชนิด DNA mismatch repair genes 0.4%, และชนิดฺ BR1P1, RAD51C, RAD51D,PALB2, BARD1 รวมกันทั้งหมด 3.3% ทั้งนี้จากการศึกษาไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่า ผู้ป่วยมะเร็งคนใดจะมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทั้งจาก เชื้อชาติ ตำแหน่งที่เกิดโรค(รังไข่ หรือ ท่อนำไข่ หรือเยื่อบุช่องท้อง) และชนิดของเซลล์มะเร็ง

การศึกษาครั้งนี้ ทำให้สามารถทราบถึงปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดมะเร็งรังไข่ ซึ่งในอนาคต อาจช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มมีพันธุกรรมผิดปกตินี้ได้ อาจด้วยการแนะนำการตัดรังไข่ ภายหลังเมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้มีบุตรเพียงพอแล้ว

อนึ่งในบ้านเรา ยังไม่มีการตรวจหาจีนเหล่านี้ในลักษณะเป็นการตรวจทั่วไปให้กับผู้ป่วย จะมีการตรวจอยู่บ้างเฉพาะในบางห้องปฏิบัติการในการศึกษาวิจัยของบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26720728 [2016,Aug20].