คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนผลจากการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ว่า การตรวจแมมโมแกรม/การตรวจภาพรังสีเต้านม เป็นวิธีการตรวจที่ช่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมให้พบได้ตั้งแต่ผู้ป่วยยังคลำก้อนเนื้อที่เต้านมไม่ได้ โดยทั่วไปในปัจจุบันแพทย์มักแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เริ่มที่อายุประมาณ 50 ปี อย่างไรก็ตามในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม เช่น ครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมหรือเป็นมะเร็งอื่นๆ แพทย์มักแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเริ่มตั้งแต่ในช่วงอายุ 35-40 ปี ซึ่งโดยทั่วไปผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 50 ปี เต้านมมักมีไขมันน้อย ทำให้เนื้อเยื่อเต้านมหนา ที่เรียกว่า Dense breast ที่จะบดบังก้อนเนื้อหรือหินปูนมะเร็ง ส่งผลให้ตรวจพบก้อนเนื้อ และ/หรือหินปูนที่จับก้อนมะเร็งได้ยาก ผลตรวจจึงผิดพลาดได้สูงขึ้น แพทย์จึงมักมีการตรวจเสริมด้วยการตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์เพิ่มร่วมไปด้วยกับการตรวจแมมโมแกรม จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้ว่า การตรวจแมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์เต้านม มีประโยชน์ช่วยทำให้ตรวจพบก้อนเนื้อมะเร็งเพิ่มขึ้นหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจแมมโมแกรมเพียงวิธีเดียว

การศึกษานี้โดยคณะแพทย์ จาก Tohoku University ประเทศญี่ปุ่น นำโดย ดร. Noriaki Ohuchi และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ ชื่อ The Lancet โดยตีพิมพ์ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต เมื่อ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2015

การศึกษานี้ ศึกษาในผู้หญิงวัย 40-49 ปีที่ไม่มีอาการและคลำไม่พบก้อน/ความผิดปกติของเต้านม ทั้งนี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างในผู้ป่วย 2 กลุ่มที่มีประวัติทางการแพทย์ไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยเป็นการศึกษาในช่วง กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ถึง มีนาคม 2011 ซึ่งกลุ่มศึกษาที่ตรวจทั้งแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เต้านมมีทั้งหมด 36,859 ราย ส่วนกลุ่มควบคุมที่ตรวจเพียงแมมโมแกรมวิธีเดียว มีผู้เข้าศึกษาทั้งหมด 36,139 ราย

ผลการศึกษาพบว่า การตรวจคัดกรองเต้านมในผู้อายุน้อยโดยการใช้แมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์ มีความไวในการตรวจ(Sensitivity) คือตรวจพบความผิดปกติของเต้านมได้สูงกว่ากว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 91.1% vs 77.0% (p< 0.0004) แต่มีความจำเพาะ(Specificity)น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน 87.7% vs 91.4% (p< 0.0001) และสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะแรก(ระยะ 0,1)ได้สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 0.50% vs 0.32% (p< 0.0003)

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า ในผู้ป่วยอายุช่วง 40-49 ปี การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยใช้แมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวด์มีความไว และตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกได้สูงกว่า การตรวจโดยแมมโมแกรมวิธีการเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

สำหรับผู้อ่าน ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพ โดยทั่วไป การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมแพทย์ไทย มักให้การตรวจร่วมกันระหว่างแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ซึ่งถ้าตรวจทั้ง2 วิธี ค่าใช้จ่ายในการตรวจจะสูงกว่าการตรวจเพียงวิธีการเดียวประมาณ 20-30%

บรรณานุกรม

http://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(15)00774-6/abstract [2016,June18].