คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน อัตราอยู่รอดในมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การศึกษาเรื่องนี้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2558 ครั้งที่ 97 ของสมาคมด้านโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ American Radium Society (ARS) ในช่วง2-5พฤษภาคม 2558 โดยได้มีการเผยแพร่รายงานการศึกษานี้ Proceeding ที่ S046 ทางอินเทอร์เน็ท

คณะแพทย์ที่ศึกษาเรื่องนี้ นำโดย นพ. Andrew J Bishop จาก University of Texas MD Anderson Cancer Center in Houston โดยคณะแพทย์ฯมีความเห็นว่าปัจจุบันการรักษามะเร็งเต้านมก้าวหน้าไปมาก มียาเคมีบำบัดตัวใหม่ๆเกิดขึ้น รวมถึงเทคนิคการฉายรังสีรักษาก็ปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งระยะที่ 4 (ระยะที่มีโรคมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย) แพทย์จึงอยากทราบว่า ด้วยเทคนิคการรักษาในปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4นี้ จะมีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปีเป็นอย่างไร เพราะในอดีตผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้มักมีอัตราอยู่รอดที่ 5 ปีต่ำมาก

คณะแพทย์ได้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ทั้งหมด 570ราย เป็นผู้ป่วยช่วง มกราคม พ.ศ.2546- ธันวาคม พ.ศ.2548 พบว่าหลังการรักษาครบถ้วนแล้วตามตารางการรักษาของแพทย์ จะมีผู้ป่วยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เมื่อรักษาครบแล้ว การตรวจผู้ป่วยด้วยการตรวจร่างกาย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ/หรือเอมอาร์ไอ และการตรวจด้วยเพทสะแกน(PET scan) จะพบว่าผู้ปวยปลอดจากโรคมะเร็ง(คิดเป็น 16%ของผู้ป่วยทั้งหมดที่ศึกษา) แต่อีกกลุ่มหลังการรักษาครบและหลังการตรวจด้วยวืธีการเช่นเดียวกัน พบว่ายังมีโรคมะเร็งหลงเหลืออยู่

คณะแพทย์จึงติดตามศึกษาเพิ่มเติมผู้ป่วยกลุ่มปลอดโรคนาน 14 -134เดือน มัธยฐาน 100 เดือน พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตรารอดที่ 3ปี= 96%,ที่ 5 ปี=78% ซึ่งต่างกับผู้ป่วยที่ยังมีโรคเหลืออยู่หลังการรักษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ อัตราการอดชีวิตที่ 3ปีของผู้ป่วยระยะที่ 4ทั้งหมด =44% และที่ 5 ปี= 24%

การศึกษาเพิ่มเติมพบว่า ปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดของผู้ปวยมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ที่มีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากการตอบสนองที่ดีต่อการรักษาจนไม่สามารถตรวจพบมะเร็งหลงเหลืออยู่แล้ว ยังได้แก่ ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นเพียงอวัยวะเดียว โดยถ้าการแพร่กระจายเกิดจุดเดียวอัตรารอดก็จะยิ่งสูงขึ้น, ผู้ป่วยต้องไม่อ้วน, เป็นผู้ป่วยกลุ่มมีการตอบสนองต่อยาฮอร์โมน (ER+), เป็นมะเร็งชนิดที่มีค่า HER-2 เป็น+และได้รับการรักษาร่วมด้วย ด้วยยารักษามะเร็งที่ชื่อ Trastuzumab, และร่วมกับการได้รับการรักษาโรคที่เต้านมร่วมด้วย เช่น การฉายรังสี หรือ การผ่าตัดเต้านม

ผลจากการศึกษาครั้งนี้ ช่วยให้แพทย์เพื่มความแม่นยำในการพยากรณ์โรคมะเร็งเต้านมระยะที่ 4 และยังเป็นแนวทางในการปรับปรุงวิธีรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยมีปัจจัยบวกที่จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั่วไป จะเห็นได้ว่า ปัจจัยบวกที่มีนัยสำคัญฯต่อ ผลการรักษาและต่ออัตราอยู่รอดที่ปลอดจากโรค มีอยู่ประการหนึ่ง ที่ขึ้นกับตัวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทุกคน นั่นคือ การดูแลตนเองไม่ให้เกิดภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งการศึกษาทุกการศึกษาในโรคมะเร็งเต้านมในทุกระยะโรค รวมถึงการศึกษาครั้งนี้ ให้ผลตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่เป็นปัจจัยบวกที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ช่วยเพิ่มอัตราอยู่รอดในโรคมะเร็งเต้านม คือ การควบคุมร่างกายให้มีน้ำหนักตัวในเกณฑ์ปกติ ไม่มีโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน

“ช่วยๆกันดูแลตัวเองค่ะ”

บรรณานุกรม

1.http://www.cancernetwork.com/ars-2015/prognosis-patients-metastatic-breast-cancer-achieve-no-evidence-disease-status-after-systemic-local-therapy [2016,March19].

2.http://www.cancernetwork.com/her2-positive-breast-cancer/mbc-patients-who-attain-no-evidence-disease-live-longer [2016,March19].