คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สูบบุหรี่มือสองเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในด้านโรคมะเร็ง เป็นที่ทราบกันดีจากการศึกษาต่างๆว่า การสูบบุหรี่มือสอง

(Secondhand smoke) เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ด้วยตนเองต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด และเมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มีรายงานที่ตีพิมพ์ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ต จากวารสารการแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ชื่อ American Journal of Preventive Medicine ถึงการศึกษาจากคณะแพทย์ใน South California ที่นำโดย ดร. A. Malek จากมหาวิทยาลัย Medical University of South California, Colchester, Vermont ที่ศึกษาถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่มือสองต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke)

การศึกษานี้ศึกษาในคนอเมริกันใน South Califonia ในช่วง ค.ศ. 2003-2007 และติดตามผลถึง ค.ศ. 2012 เฉลี่ยติดตามผลการศึกษาได้นาน 5.6 ปี ทั้งนี้ประชากรที่ศึกษามีทั้งเพศหญิงและเพศชายรวมทั้งหมด 21,743 คน เป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง 5,081คน ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช่สูบบุหรี่มือสอง 16,662 คน โดยทุกคนมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อได้ตัดปัจจัยเสี่ยงอื่นในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองออกไปแล้ว เช่น การดื่มสุรา โรคหัวใจ การขาดการออกกำลังกาย พบผู้สูบบุหรี่มือสอง เกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้สูบบุหรี่มือสอง 30% ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมองที่พบมักเป็นชนิดหลอดเลือดสมองตีบมากที่สุด ไม่ค่อยพบชนิดหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาต่างๆก่อนหน้านี้ที่พบว่า สารพิษในควันบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ที่จะนำไปสู่หลอดเลือดแดงสมองแข็ง ตีบ จนส่งผลให้เนื้อสมองขาดเลือดในที่สุด

ผลการศึกษาในครั้งนี้ ถึงแม้จะศึกษาในประชากรไม่มาก แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลช่วยการดูแลประชากรให้ตระหนักถึงภัยจากบุหรี่มือสอง ซึ่งจะนำมาสบับสนุนการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ และการหามาตรการปกป้องผู้สูบบุหรี่มือสอง และเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงภัยของการสูบบุหรี่มือสอง ซึ่งมักเกิดกับคนในบ้านเดียวกันกับผู้สูบบุหรี่ และในที่ทำงาน ซึ่งผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง ควรต้องตระหนัก หาทางหลีกเลี่ยง และช่วยกันหามาตราการที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องสุขภาพของตนเองจากภัยบุหรี่มือสอง

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26117341[2015,Feb20]