คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนสิงคโปร์เริ่มศึกษาการใช้วัคซีนในผู้ป่วยมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มีข่าวเล็กๆเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ที่น่ายินดีคือ สิงค์โปร์ เพื่อนบ้านเราได้เริ่มทำการศึกษาในคน เกี่ยวกับการนำวัคซีนมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง ที่น่ายินดีเพราะ การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่นำมารักษาโรคมะเร็ง ปัจจุบันมักอยู่ในขั้นตอนการศึกษาในสัตว์ทดลอง ดังนั้นการนำมาศึกษาในคนได้ ก็เป็นตัวบ่งชี้ว่า วิธีการรักษานี้เข้าใกล้ความสำเร็จที่จะเป็นจริง ที่นำมาใช้ทางคลินิกได้จริง

ปัจจุบันการรักษามะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา มีข้อจำกัดที่ผลข้างเคียง ผู้คนจึงกลัววิธีรักษากันมาก หลายคนกลัวมากกว่าตัวโรคมะเร็ง แต่วัคซีนเป็นวิธีรักษาที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานขึ้นมากำจัดเซลล์มะเร็ง ดังนั้นผลข้างเคียงจากวัคซีนจึงน้อยกว่าวิธีรักษาอื่นๆดังกล่าว

วัคซีนที่ประเทศสิงคโปร์โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสิงค์โปร์(the National Cancer Centre Singapore/ NCCS)นำมาศึกษา ชื่อ MicroVax’s TAA/ecd40L ซึ่งวัคซีนนี้มีคุณสมบัติกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานได้สูงและมีประสิทธิภาพควบคุมเซลล์มะเร็งได้กับมะเร็งที่พบบ่อยทุกชนิด

อย่างไรก็ตาม การศึกษายังอยู่ในขั้นต้น คือ ขั้น 1(Phase 1) คือ การศึกษาที่ดูว่า วัคซีนนี้จะก่อผลข้างเคียงอย่างไรในคนทั้งในระยะเฉียบพลันและในระยะยาวอย่างน้อย 1-3 ปีหลังได้รับวัคซีน ซึ่งจะต้องทำการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งอย่างน้อย 24 รายจึงจะให้ผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือได้ทางสถิติ

ทั้งนี้การศึกษาทางการแพทย์จะมีทั้งหมด 3 ขั้น คือ ขั้น1, 2, และ3 โดยต้องศึกษาไปที่ละขั้น เมื่อสำเร็จในขั้น 1 จึงจะศึกษาขั้นต่อๆไปได้ ในการศึกษาขั้น 2 คือ การศึกษาใช้วัคซีนรักษาในผู้ป่วยมะเร็งจำนวนหนึ่งและในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อดูว่า วัคซีนให้ผลการรักษาดีกว่าในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ และที่จะให้ผลเชื่อถือได้ทางสถิติได้ ต่อจากขั้น 2 จึงจะเป็นการศึกษาในขั้น 3 ซึ่งเป็นการศึกษาในผู้ป่วย 2กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุมที่รักษาโดยไม่ใช้วัคซีน เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ 2 ที่รักษาด้วยการใช้วัคซีน และเมื่อศึกษาได้ครบในจำนวนผู้ป่วยและติดตามผลรักษาได้นานอย่างน้อย 1-3 ปี จึงจะมีการนำวัคซีนมาใช้ทางคลินิกได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การศึกษาครั้งนี้ จะอยู่ในขั้นที่ 1 แต่ก็น่ายินดี โดยเฉพาะเป็นการศึกษาในคนเอเชีย ที่ผลการศึกษาน่าจะปรับใช้ในคนไทยได้ดีกว่าการศึกษาที่ได้มาจากในคนตะวันตก

บรรณานุกรม

1. Morina-Montes, E. et al. (2015). Gynecologic Oncology. 136, 158-171

2. http://www.iarc.fr/en/media-centre/pr/2013/pdfs/pr223_E.pdf [2015,Jan16]