คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนโอกาสเกิดมะเร็งชนิดที่ 2ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

สถิติมะเร็งเต้านมของโลกที่รายงานจากองค์การอนามัยโลก ในปี ค.ศ. 2012 พบมะเร็งเต้านมใหม่(New cases)ทั้งหมด 1.7ล้านคน ในขณะที่มะเร็งใหม่ทั้งหมดทุกชนิด คือ 14.1 ล้านคน มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่มีผลการรักษาที่ดี อัตรารอดที่ 5 ปีหลังการรักษาหรือคือโอกาสหายจากโรคในภาพรวมทุกระยะโรคในประเทศตะวันตกสูงถึงประมาณ 80% ดังนั้นแพทย์โรคมะเร็งจึงต้องการทราบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาหายแล้วเหล่านี้ มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งอื่นๆที่เรียกกันว่า “มะเร็งชนิดที่2 (มะเร็งที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม)”อีกไหม คำถามนี้จึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้

อนึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมในเต้านมอีกข้างได้ประมาณ 4% แต่การเกิดมะเร็งเต้านมอีกข้างนี้ ไม่นับเป็นมะเร็งชนิดที่ 2

การศึกษาเพื่อดูว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาหายแล้วมีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งชนิดที่ 2 หรือไม่ อย่างไร นำโดย E. Molina-Montes. และคณะ จากสถาบันทางการสาธารณสุข ประเทศเสปน ที่เป็นการศึกษาแบบการวิเคราะห์อภิมาน(Metaanalysis) โดยการสืบค้นงานศึกษาที่เกียวข้องกับเรื่องนี้ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ใน database จาก PubMed และ Embase ทั้งหมดจนถึงปี ค.ศ. 2013

การศึกษานี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Gynecologic Oncology, Volume 136,หน้า158-171 ปี 2015 โดยพบมีทั้งหมด 710 การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่มีข้อมูลที่จะนำมาศึกษาตรงกับเป้าของการศึกษานี้ ทั้งหมด 15 การศึกษา ซึ่งทั้ง 15 การศึกษานี้ เป็นการศึกษาแบบเฝ้าติดตามที่เป็นการศึกษาย้อนหลัง(Retrospective cohort study)

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อติดตามศึกษานานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ที่ 10 ปีหลังการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ ประมาณ 17-23%ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รักษาหายแล้ว เกิดเป็นมะเร็งชนิดที่ 2 ซึ่งมีได้หลากหลายมะเร็งชนิดที่พบบ่อย เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ ฯลฯ ในการนี้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่วินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ก่อนอายุ 50 ปี มีโอกาสเกิดมะเร็งชนิดที่ 2ได้สูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่วินิจฉัยโรคได้เมื่ออายุมากกว่า 50ปี ซึ่งคณะผู้ศึกษา เชื่อว่าน่าเป็นเพราะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อายุน้อย(น้อยกว่า 50ปี)มักเป็นมะเร็งชนิดที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมที่มีโอกาสเกิดเป็นมะเร็งได้หลากหลายชนิด

นอกจากนั้น การศึกษายังพบว่า โรคมะเร็งชนิดที่ 2 ที่พบได้บ่อยในกรณีผู้ป่วยที่วินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมได้ในอายุน้อยกว่า 50 ปี คือ มะเร็งรังไข่ ส่วนมะเร็งชนิดที่ 2 ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยวินิจฉัยมะเร็งเต้านมได้ที่อายุมากกว่า 50 ปี คือ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษานี้คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ควรต้องตระหนักในเรื่องนี้ และต้องคอยสังเกตตนเองถึงความผิดปกติต่างๆ รวมถึงการตรวจคลำและสังเกตการเกิดก้อนเนื้อผิดปกติของร่างกาย ที่รวมถึงมาพบแพทย์ตามนัดเสมอตลอดไป เพื่อให้แพทย์ได้ตรวจเฝ้าระวังมะเร็งชนิดที่ 2 ซึ่งการดูแลตนเองดังกล่าวจะช่วยให้ตรวจพบมะเร็งชนิดที่ 2ได้เร็วขึ้น อันจะส่งผลให้ผลการรักษาดีขึ้นตามไปด้วย

บรรณานุกรม

1. Morina-Montes, E. et al. (2015). Gynecologic Oncology. 136, 158-171

2. http://www.iarc.fr/en/media-centre/pr/2013/pdfs/pr223_E.pdf [2015,Jan16]