คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน มะเร็งเต้านมเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งตอมไทรอยด์

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ปัจจุบัน ผู้ป่วยหญิงทั่วโลกป่วยเป็นมะเร็งเต้านมกันสูงมากขึ้น โดยพบสูงเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงทั้งในสหรัฐอเมริกาและในประเทศไทย แต่ที่น่ายินดี คือ วิธีการรักษามะเร็งชนิดนี้ก้าวหน้าอย่างมาก ส่งผลให้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้นตามไปด้วย โดยอัตรารอดที่ 5 ปีที่รายงานในสหรัฐอเมริกา คือ 89.2% ดังนั้นแพทย์สหรัฐอเมริกาจึงต้องการศึกษาว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รอดชีวิตแล้ว มีโอกาสเกิดมะเร็งชนิดอื่นอีกหรือไม่ โดยเฉพาะมะเร็งต่อมไทรอยด์ที่เป็นมะเร็งชนิดพบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชายหลายเท่า จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ว่า ผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม เมื่อรักษาหายแล้ว มีโอกาสเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์สูงหรือไม่ อย่างไร

คณะแพทย์ที่ศึกษา นำโดย พญ. J. Kuo จาก โรงพยาบาล Columbia University Medical Center สหรัฐอเมริกา โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งที่เก็บรวบรวมโดยสถาบันแห่งชาติสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับสถิติต่างๆทางการแพทย์ ที่ชื่อว่า SEER(The National Cancer Institute’s Surveillance, Epidrmiology, and End Results) และได้นำเสนอผลงานเมื่อ 7 มีนาคม ค.ศ. 2015 ในการประชุมประจำปีของสมาคมโรคต่อมไร้ท่อ(The Endocrine Society)แห่งสหรัฐอเมริกา ที่จัดขึ้นในช่วง 5-8 มีนาคม 2015 ที่ San Diego U.S.A และได้เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ 9มีนาคม 2015

ผลการศึกษาจากข้อมูลช่วง ค.ศ 1973-2011 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยมะเร็งเต้านมเพียงมะเร็งเดียว 704,402 ราย และป่วยด้วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดเดียว 49,663 ราย และมี 1,526 รายที่เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ตามหลังมะเร็งเต้านม

ผลการศึกษาระบุว่า ในกลุ่มคนทั่วไป โอกาสเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ จะประมาณ 0.3% ในการศึกษานี้เมื่อติดตามผลนาน 10 ปีขึ้นไป พบว่า กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอายุไม่เกิน 40 ปี เกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ตามมา 16% ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอายุ 50-55 ปี เกิดมะเร็งต่อมไทอยด์ตามมา 12% และในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อายุ 60 ปีขึ้นไป อัตราเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ตามหลังมะเร็งเต้านมไม่ต่างจากคนทั่วไป

คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 60 ปีที่หายจากโรคมะเร็งแล้ว มีโอกาสเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ตามมาได้สูงกว่าคนทั่วไป โดยจากการศึกษานี้ ไม่สามารถระบุได้แน่นอนว่า อะไรเป็นปัจจัยต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ซึ่งจะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษานี้คือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังครบการรักษาแล้ว ควรต้องพบแพทย์ตามนัดเสมอ อย่างน้อยเพื่อช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดที่2 ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบมะเร็งชนิดที่ 2 นี้ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ได้รับผลการรักษาที่ดีขึ้น

บรรณานุกรม

1. http://www.medscape.com/viewarticle/841078 [2015,Jan16]