คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เอชไอวีเป็นปัจจัยเพิ่มอัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การติดเชื้อ เอชไอวี เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญปัจจัยหนึ่งต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งคาโปซิ(Kaposi’s sarcoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งปากมดลูก แพทย์จึงมีข้อสงสัยว่า การติดเชื้อเอชไอวีจะมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรคมะเร็งหรือไม่

คณะผู้ศึกษาในเรื่องนี้ นำโดย ดร. A.E. Coughill และคณะจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Journal of Clinical Oncology และเผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต เมื่อ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2015

โดยได้ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด 1,816,461ราย ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดพบได้บ่อยของสหรัฐอเมริกา เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกล่องเสียง ฯลฯ ในการนี้มีผู้ป่วยมะเร็งที่ติดเชื้อเอชไอวีคิดเป็น 0.36%ของผู้ป่วยทั้งหมด เมื่อศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วยมะเร็งทั้งกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีและกลุ่มติดเชื้อเอชไอวี ผลการศึกษาพบว่า อัตราเสียชีวิตที่เกิดจากตัวโรคมะเร็งเองสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยมะเร็งที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่ทั้งนี้ยกเว้น มะเร็งมะต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งทวารหนัก ที่การติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงในอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นจากโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ อัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่สูงขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งเอชไอวี อาจเกิดจากการที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง จึงส่งผลให้โรคมะเร็งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ลุกลามและแพร่กระจายรุนแรงกว่าในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงอาจส่งผลให้เซลล์มะเร็งดื้อต่อ ยาเคมีบำบัด และ/หรือต่อรังสีรักษา

นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากสภาพร่างกายที่อ่อนแอกว่าของผู้ป่วยมะเร็งที่ติดเชื้อเอชไอวี จึงส่งผลให้รับการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างไม่เต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา

ด้วยเหตุผลดังกล่าวร่วมกัน จึงส่งผลให้การรักษาโรคมะเร็งในผู้ป่วยเอชไอวี ด้อยประสิทธิภาพลง อัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของผู้ป่วยจึงสูงขึ้น

บรรณานุกรม

1. http://jco.ascopubs.org/content/early/2015/06/15/JCO.2014.59.5967.full [2015,Dec19]