คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอนเพศสัมพันธ์ทางปากกับมะเร็งช่องปาก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ปัจจุบัน เพศสัมพันธ์ทางปากพบได้มากขึ้น องค์กรที่ดูแลป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา(CDC, Centers of Disease Control and Prevention) ได้รายงานในช่วงปี ค.ศ. 2007-2010 ในสหรัฐอเมริกาในประชากรช่วงวัย 15-24 ปี ทั้งหญิงและชาย ประมาณ 25% เคยมีเพศสัมพันธฺทางปากแล้ว โดยประมาณ 25% ใช้เพศสัมพันธ์ทางปากเป็นครั้งแรกก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแบบปกติ แต่ผู้เขียนยังหาไม่พบการรายงานสถิติการมีเพศสัมพันธ์ทางปากในคนไทย

จากการศึกษาที่แน่ชัด ยืนยันว่า การมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่องปากและของร่างกาย เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคหนองใน ซึ่งแพทย์ทางด้านมะเร็งได้มีความสนใจ และได้ศึกษาถึงว่า การมีเพศสัมพันธ์ทางปากจะเป็นสาเหตุหรือเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งช่องปากหรือไม่

การศึกษานำโดย นพ. Sheng Li และคณะ จาก โรงพยาบาล Zhongnan มหาวิทยาลัย Wuhan ประเทศจีน และเผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต เมื่อ 17 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ใน วารสารการแพทย์ ชื่อ Journal of Evidence Based Medicine ซึ่งเป็นการรวบรวมผลการศึกษาจากการเฝ้าสังเกต(Observational studies)จากหลายๆการศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษใน PubMed database จนถึง 30 สิงหาคม ค.ศ. 2013 ซึ่งพบมีการรายงานการศึกษาทั้งหมด 6 การศึกษา ที่ศึกษาแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ทางปาก เปรียบกับผู้ป่วยที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก รวมทั้งหมด 5,553 ราย

ผลการศึกษาพบว่า ทั้งกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก มีการเกิดมะเร็งช่องปากในอัตราที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p=0.33) คณะผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ด้วยข้อมูลในขณะนี้ ยังไม่พบว่า การมีเพศสัมพันธ์ทางปากเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก แต่อาจจะเป็นปัจจัยที่ใช้เตือนว่า คนกลุ่มนี้อาจมีโอกาสเป็นมะเร็งช่องปากได้สูงกว่าคนทั่วไป จากมักมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก ที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการขาดการใส่ใจในสุขภาพจนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารสำคัญ(ขาดอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ ที่ร่างกายใช้ช่วยในการป้องกันการกลายพันธ์ของเซลล์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ผลการศึกษายังไม่ชี้ชัดว่า เพศสัมพันธ์ทางปากเป็นปัจจัยเสี่ยงโดยตรงต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก แต่การใช้ถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว

บรรณานุกรม

1. http://www.cdc.gov/nchs/data/nhsr/nhsr056.pdf[2015,Dec19].

2.http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/jebm.12159/abstract[2015,Dec19].