คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ประวัติศาสตร์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาของประเทศไทย

ประวัติศาสตร์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาของประเทศไทย เริ่มในปี พศ. 2471ทั้งนี้เมื่อเริ่มต้น หน่วยงานรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ยังรวมอยู่เป็นหน่วยงานเดียวกันกับ หน่วยรังสีวินิจฉัย และหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยเรียกว่า “รังสีวิทยา”

ในช่วงเริ่มต้น มีการใช้รังสีเอกซ์(X-ray, รังสีจากการตรวจโรค รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา) เพื่อการตรวจโรคเพียงอย่างเดียว ศาสตราจารย์ นพ. หลวงพิณพากย์พิทยาเภท (เรียกท่านในหมู่รังสีแพทย์ว่า อาจารย์หลวงพิณฯ ) ได้ตั้งชื่อหน่วยงานนี้ว่า “แผนกรัศมีวิทยา” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “แผนกเอ๊กซเรย์วิทยา” (ศ. อำนวย เสมรสุต เขียนไว้ว่า แผนกเอ๊กซเรย์วิทยาของโรงพยาบาล ศิริราช เริ่มทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2471 แต่จากบทความของ ศ. นพ ไพรัช เทพมงคล เขียนไว้เป็น 1 มกราคม 2472 )

โรงพยาบาลศิริราช ได้มีการใช้เครื่องเอกซเรย์ทำการตรวจผู้ป่วยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2471 โดยมี อาจารย์ นพ. พิณ เมืองแมน( อาจารย์ หลวงพิณฯ)เป็นหัวหน้าหน่วยงานและหลังจากนั้นประมาณสิบปี ได้เปลี่ยนชื่อจากแผนกเอ๊กซเรย์วิทยาเป็น “แผนกรังสีวิทยา (Radiology)” เมื่อ พ.ศ. 2482

ต่อมา เมื่อมีการแยกงานรังสีวิทยา เป็นงานด้านวินิจฉัย และด้านการรักษา งานทางรังสีรักษาจึงมีชื่อว่า งาน/แผนก/หน่วยว่า“รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์” กล่าวคือ แพทย์ทางรังสีรักษา ทำงานทั้งด้าน รังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และหลายปีต่อจากนั้น มีการแยกงาน เวชศาสตร์นิวเคลียร์ ออกจากงานรังสีรักษา เป็น งาน/หน่วย/แผนก “รังสีรักษา (Radiotherapy) ” และงาน/หน่วย/แผนก “เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)” และหลังจากนั้นอีกหลายปี เพื่อให้สอดคล้องกับสากล สมาคมรังสีรักษาแห่งประเทศไทย จึงเปลี่ยนชื่อ งานรังสีรักษาเป็น งาน/หน่วย/แผนก “รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา (Therapeutic radiology and Oncology)” และยังใช้ชื่อนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2556)

ต่อจากโรงพยาบาลศิริราช แผนกรังสีวิทยา ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อตั้งในปี พ.ศ.2477โดย มีอาจารย์หลวงพิณฯ เป็นที่ปรึกษาและร่วมก่อตั้ง มี ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง คุณตะวัน สุรวงค์ บุนนาค และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ แพทย์หญิง พิศสมัย อร่ามศรี ปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2483 และ 2493 ตามลำดับ

แผนกรังสีวิทยา หรือ ภาควิชารังสีวิทยาของ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งรวมหน่วยรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์อยู่ด้วย ได้ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2504 โดยผู้ก่อตั้ง คือ ศาสตราจารย์ นพ. ดุษฎี ประภาสะวัติ รองศาสตราจารย์ นพ. จงดี สุขถมยา และศาสตราจารย์ นพ. สนาน สิมารักษ์

งานรังสีรักษา ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ใช้ชื่อในการก่อตั้งว่า “หน่วยรังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์” โดยรวมอยู่ใน ภาควิชา รังสีวิทยา ซึ่งมี ศาสตราจารย์ นพ. ทวี บุญโชติ ศ. นพ. กวี ทังสุบุตร และ รศ. นพ กุณฑล สุนทรเวช เป็นผู้ก่อตั้ง มี ศ.นพ. ทวี บุญโชติ เป็นหัวหน้าภาควิชาคนแรก และ ศ. นพ. กวี ทังสุบุตร เป็นผู้ก่อตั้ง และ เป็นหัวหน้าหน่วยรังสีรักษาและ เวชศาสตร์นิวเคลียร์คนแรก ซึ่งหน่วยฯได้เปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยครั้งแรกในปี พ.ศ.2512 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น หน่วยรังสีรักษา เมื่อได้แยกงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ออกไปเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง และ ในปัจจุบัน ได้ใช้ชื่อหน่วยฯ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อสมาคมฯว่า “ หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา”

ในประเทศไทย ได้มีการนำเครื่องเอกซเรย์เครื่องแรกเข้ามาจากประทศสหรัฐอเมริกา โดย ดร. อาดามเซ็น (Adamsen )ในปี ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2446)หลังจากนั้นอีกเล็กน้อย แต่ในปี พ.ศ.2446 เช่นกัน โดยพระยาวิรัชเวชกิจ ( ดร. ติลิกี)ได้นำเครื่องเอกซเรย์เครื่องที่ 2 เข้ามา และ ใช้ในการตรวจรักษาโรคเป็นส่วนตัว โดยมีที่ทำการอยู่ที่ “แก้วฟ้า เฮ้าส์ ” จนกระทั่งมีการตั้งโรงพยาบาลวชิระขึ้นและมีเจ้าคุณวิรัชฯ (ดิฉันสืบค้นหาชื่อเต็มไม่พบคะ) เป็นผู้อำนวยการ ท่านจึงได้นำเครื่องเอกซเรย์นี้มาใช้ในโรงพยาบาลวชิระ ในปี พ.ศ.2456 (ค.ศ. 1913) ต่อมา เครื่องเอกซเรย์ทางการตรวจโรค มีใช้ที่โรงพยาบาลทหารเรือ และโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ในปี ค.ศ. 1914 (พ.ศ. 2457) โรงพยาบาลกลาง (Central hospital) และโรงพยาบาล เซ็นหลุยส์ ในปี ค.ศ.1915 (พ.ศ. 2458) ในช่วงที่โรงพยาบาลศิริราช ยังไม่มีเครื่องเอกซเรย์ ผู้ป่วยจากโรงพยาบาลศิริราช ที่ต้องใช้การเอกซเรย์ จะถูกส่งมารับการตรวจที่โรงพยาบาลกลาง

การฉายรังสีรักษา หรือการนำรังสีเอกซ์ ใช้รักษาโรคเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการฉายรังสีเอกซ์รักษาโรคผิวหนัง(ไม่ใช่รักษาโรคมะเร็ง) โดยใช้รักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ในปี พ.ศ. 2472และใช้ฉายรังสีเอกซย์ รักษาโรคมะเร็งเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2478 โดย เป็นเครื่องฉายรังสีเอกซ์แรงลึก (deep x-ray) เป็นเครื่อง Kollekoett, 10 MA, 230KV, Aerial type, Motor rectification ซึ่งได้รับพระกรุณาจาก พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ประทานเงิน เป็นจำนวน16 000.00 บาท รังสีรักษาแพทย์ในขณะนั้น คือ ศ. นพ. หลวงพิณพากย์พิทยาเภท และ ศ. นพ. อำนวย เสมรสุตซึ่งแพทย์ประจำบ้านด้านรังสีรักษาเป็นคนแรก น่าจะ เป็น ศ. นพ. โรจน์ สุวรรณสุทธิ ในปีพ.ศ.2481

ในปีแรกของการรักษาโรคมะเร็ง ณ โรงพยาบาลศิริราช ได้ให้การรักษาโรคมะเร็ง และ โรคอื่นๆ รวมทั้งหมด 179 ราย จำนวน 846 ครั้ง ในปีต่อมา เพิ่มเป็น 413 ราย จำนวน 4 258 ครั้ง และ ศ. นพ. อำนวย เสมรสุต ได้รายงานการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษาเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในปี 2480 โดยเป็นการรักษาโรคมะเร็งบริเวณผิวหนัง

หลายสิบปีต่อมา หลังจากยุคของ deep x-rays ( orthovoltage ) เครื่องฉายรังสีรักษาในประเทศไทย จึงเปลี่ยนเป็นเครื่องฉายรังสี โคบอลท์(cobalt-60 telethelapy) หลายสิบปีต่อมา จึงมีเครื่องฉายรังสี ชนิดเครื่องเร่งอนุภาค 2 มิติ (linear accelerator) โดยการรักษาทั้งหมดที่ได้กล่าวถึง เป็นการฉายรังสีรักษาแบบ สองมิติ (2D, two dimension treatment) ต่อจากนั้นอีกหลายสิบปี จนถึงปัจจุบัน ได้มีการฉายรังสีด้วยเทคนิค สามมิติ และ สี่มิติ ตามลำดับ (3D, 4D, three dimensional, four dimensional) ควบคู่ไปกับการฉายรังสีแบบ 2 มิติ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสีโคบอลท์ และ 2D linear accelerator ยังคงใช้เป็นการรักษามาตรฐานของประทศไทย ส่วนในต่างประเทศ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยจากการใช้รังสี ทั้งในยุโรปส่วนใหญ่ และ สหรัฐอเมริกา จึงยกเลิกการรักษาผู้ป่วยทั่วไปด้วยเครื่องฉายรังสีโคบอลท์ แต่อาจยังมีใช้อยู่บ้างในการรักษา โรคมะเร็งกล่องเสียง ชนิดglottic cancer ระยะที่ 1 และ 2 และใช้ในการรักษา ด้วยเทคนิค รังสีศัลยกรรม (radiosurgery) ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีแบบ 3 มิติ เรียกว่า เครื่อง gamma knife

การใส่แร่ (brachytherapy) การใส่แร่ในประเทศไทยครั้งแรก เป็นการใช้ แร่เรเดียม (radium 226) เกิดขึ้น ณ โรงพยาบาลศิริราชในปี พ.ศ. 2481 โดยใช้ในการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก และแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยโดยการใส่แร่เป็นคนแรก คือ ศ. นพ. หลวงพิณพากย์พิทยาเภทหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี มีการใช้แร่ ซีเซียม(cesium 137) และหลังจากการใช้แร่ซีเซียมอีกหลายปี จนถึงปัจจุบัน การรักษาโดยการใส่แร่ ของโรงพยาบาลส่วนใหญ่ ใช้แร่ อิริเดียม (iridium 192) แต่มีบางโรงพยาบาล ยังคงใช้แร่ซีเซียมอยู่ ส่วนการใช้แร่เรเดียม ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้วหลายปี ตามคำแนะนำของ IAEA (International Atomic Energy Agency)

อนึ่ง ศ. นพ. ไพรัช เทพมงคล ได้เขียนยกย่องไว้ว่า แพทย์รังสีรักษาท่านแรกของประเทศไทย คือ ศ. นพ. อำนวย เสมรสุต ซึ่งเป็นรังสีแพทย์คนที่ 2 โดยจบปริญญาแพทย์ศาสตร์รุ่นแรก จากโรงพยาบาลศิริราช และได้เข้าทำงาน ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นผู้ช่วย อาจารย์หลวงพิณ ฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2472 และได้รับทุน มหิดล ไปศึกษาวิชารังสีวิทยา ณ ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2480 (ในขณะนั้น การเรียนการสอนด้านรังสีทุกสาขา รวมเรียกว่า รังสีวิทยา ยังไม่มีการแยกเป็นสาขาย่อย) หลังจากท่านจบการศึกษาได้กลับมาทำงานด้านรังสีรักษา ณ โรงพยาบาลศิริราช จนเกษียณอายุราชการในปี พศ. 2510

รังสีแพทย์ทุกคนได้ยกย่องให้ รังสีแพทย์ท่านแรกของประเทศไทย คือ ศ. นพ. หลวงพิณพากย์พิทยาเภท

ศ.นพ. อำนวย เสมรสุต ยังเป็นผู้ร่วมริเริ่มก่อตั้ง สมาคมต่างๆในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งและรังสีวิทยา คือ สมาคมต่อต้านโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Thai Cancer Society) ในปี พ.ศ. 2505 รังสีวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย(Radiological Society of Thailand) ในปีค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505)ซึ่งได้จดทะเบียนเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2506 และการก่อตั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2507

ในส่วนสมาคมรังสีรักษาแห่งประเทศไทย ได้ก่อตั้งในชั้นแรก เป็นชมรมในปี พ.ศ. 2524 ใช้ชื่อว่า “ชมรมรังสีรักษาแห่งประเทศไทย” และได้เปลี่ยนเป็น “ สมาคมรังสีรักษาแห่งประเทศไทย” (Thai Society of Radiation Oncology) อย่างเป็นทางการเมื่อ 16 พฤษภาคม 2529 โดยตราเครื่องหมายของสมาคม ออกแบบโดย อาจารย์ นพ. สิริศักดิ์ ภูริพัฒน์ (หัวหน้างาน รังสีรักษา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในขณะนั้น) มีนายกสมาคมฯคนแรก คือ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง พิสมัย อร่ามศรี ต่อมาอีกหลายปี เพื่อให้สอดคล้องกับสากล สมาคมรังสีรักษาแห่งประเทศไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา แห่งประเทศไทย” (Thai Society of Therapeutic Radiology and oncology มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า THASTRO)

รังสีวิทยาสมาคม ได้จัดให้มีการสอบวุฒิบัตร “สาขารังสีวิทยาทั่วไป” และ “สาขารังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์” เมื่อปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ.2515 โดยมี พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ เป็นแพทย์ประจำบ้านคนแรกในสาขารังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ และได้รับ วุฒิบัตร สาขารังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นคนแรกเช่นกัน ในปีพ.ศ.2515 หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2529 ชมรมรังสีรักษา จึงเริ่มให้การฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางรังสีรักษาเพียงสาขาเดียวโดยแพทย์ผู้อบรม จะได้รับวุฒิบัตรใน “สาขารังสีรักษา” ซึ่งปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็น วุฒิบัตร “สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา”

แหล่งข้อมูล:

  1. พิณพากย์พิทยาเภท. ฉลอง ๕๐ ปี เวชชนิสสิต พ.ศ. 2482
  2. อำนวย เสมรสุต. ประวัติการใช้รังสีรักษาโรคมะเร็ง ในประเทศไทย (History of radiotherapy in Thailand). Thai J Radiol 1969; 6: 1-12.
  3. ไพรัช เทพมงคล. ประวัติรังสีรักษาในโรงพยาบาลศิริราช. มะเร็งวิวัฒน์ 2552; 15: 23-42.
  4. วิมล สุขถมยา. ศูนย์บริการรักษาและวิจัยโรคมะเร็งภาคเหนือ. มะเร็งวิวัฒน์ 2552;15:44-48.
  5. Sitisara B. Historical development of roentgenology in Thailand. รังสีวิทยาสาร 2537;31: 57-58.
  6. พิสมัย อร่ามศรี. การก่อตั้งสมาคมรังสีรักษาแห่งประเทศไทย. มะเร็งวิวัฒน์ 2552; 15:20-22.
  7. พวงทอง ไกรพิบูลย์. เนื่องมาจากปก ศาสตร์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์.มะเร็งวิวัฒน์2550; 13:7-10.