คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน วัคซีนในมะเร็งรังไข่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งรังไข่ จัดเป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี มักพบโรคในระยะที่ 3และ4 และเมื่อได้รับการรักษาครบแล้วทั้งการผ่าตัดและยาเคมีบำบัด โรคมัก ย้อนกลับเป็นซ้ำสูง โดยในผู้เกิดย้อนกลับเป็นซ้ำ ประมาณ 75% เกิดใน 2 ปี ซึ่งในผู้ที่ได้รับการรักษาครบแล้ว ปัจจุบันก็ยังไม่มีตัวยาใดที่ใช้รักษา เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดเป็นซ้ำ

ในการประชุมประจำปีของสมาคมโรคมะเร็งนรีเวชแห่งสหรัฐอเมริกา (Society of Gynecologic Oncology, SGO) ที่ ชิคาโก เมื่อ 28-31มีนาคม ค.ศ. 2015 นพ. Oh, J และคณะจาก โรงพยาบาล MD Anderson รัฐเทกซัส สหรัฐอเริกา ได้นำเสนอผลงานการศึกษาที่เป็นที่ตื่นเต้นของผู้ฟัง ทั้งๆที่เป็นการศึกษาในระยะ 2/Phase 2, ที่จำนวนผู้ป่วยน้อย และยังติดตามผู้ป่วยได้ไม่นานพอ แต่ผลการศึกษาก็เป็นกำลังใจอย่างยิ่ง ต่อผู้ฟัง ผู้ศึกษา และผู้ป่วยมะเร็งรังไข่

ทั้งนี้เป็นการศึกษาโดยใช้วัคซีนในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ระยะโรคที่3 และที่4 ที่ได้รับการผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้มากจนเกือบหมดร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด เป็นการศึกษาผู้ป่วยทั้งหมด 31 คน ในจำนวนนี้ 20 คน หลังการรักษาตามปกติครบถ้วนแล้ว จะได้รับวัคซีนมะเร็งรังไข่ต่อเนื่อง เดือนละครั้ง อย่างน้อย 4 เดือน มากที่สุด 1 ปี ส่วนที่เหลืออีก 11 คนเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน

หลังการติดตามผล พบว่า ผู้ป่วยที่ ไม่ได้รับวัคซีน จะพบมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำในระยะเวลา 14.5 เดือน แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนทุกคน ที่ระยะเวลาเดียวกัน ไม่มีใครเลยที่มีโรคย้อบกลับเป็นซ้ำ ทั้งนี้เมื่อติดตามผู้ป่วยนาน 3 ปีพบว่า ผู้ไม่ได้รับวัคซีน มีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ 91% ส่วนในกลุ่มได้รับวัคซีน โรคกลับเป็นซ้ำ 60%

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า วัคซีนนี้น่าจะมีประโยชน์ทางคลินิกจริง จึงจะทำการศึกษาต่อไปที่เป็นการศึกษาในระยะที่3/Phase 3 เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่แน่นอนขึ้น โดยเป็นการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกาประมาณ 400 คน ซึ่งการศึกษาในระยะที่3นี้ ได้เริ่มแล้วตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2015

วัคซีนนี้ มีชื่อการค้าว่า Vigil (เดิมชื่อว่า FANG vaccine) เป็นวัคซีนเฉพาะแต่ละผู้ป่วย เพราะผลิตขึ้นจากเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนที่ได้จากก้อนมะเร็งของผู้ป่วยเองจากการผ่าตัด วัคซีนใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยพบผลข้างเคียงน้อยมาก มีเพียง อาการเจ็บ หรือเป็นตุ่มในตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน วัคซีนนี้ ออกฤทธิ์ต้านการเจริญเติบต่อต่อเซลล์มะเร็งโดยตรง และยังกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม คณะผู้ศึกษา ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า วัคซีนจะมีประสิทธิภาพที่ดี ต่อเมื่อ ต้องผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้เกือบหมด หรือก้อนมะเร็งที่เหลืออยู่ควรมีขนาดประมาณ ไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร

จากการศึกษานี้ ถึงแม้ จะยังคงอีกนาน กว่าจะทราบได้แน่นอนว่า วัคซีนนี้ช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ย้อนกลับเป็นซ้ำได้จริงหรือไม่ แต่ก็นับว่า เป็นข่าวดี เป็นการเริ่มต้นที่ดี ช่วยกันเอาใจช่วยคะ

บรรณานุกรม

1.http://www.onclive.com/conference-coverage/sgo-2015/Autologous-Vaccine-Delays-Progression-in-Phase-II-Ovarian-Cancer-Trial [2015,Nov21].