คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน มะเร็งเต้านมกับการกินปลาทะเล

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ มักทราบกันดีว่า ในเนื้อปลาทะเลเกือบทุกชนิด มีสารอาหารที่เรียกว่า กรดไขมันโอเมกา 3(Omega 3 polyunsaturated fatty acid/ Omega 3 PUFA) สูง ที่เราคุ้นหู เช่น ปลา Tuna, Salmon, Mackerel ,Cod, Sardine, Herring ซึ่งสารอาหารตัวนี้ มีคุณสมบัติลดการอักเสบของเซลล์ที่จะทำให้เซลล์เปลี่ยนไปเป็นเซลล์มะเร็งและยังลดโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะเจริญเติบโตได้ด้วย จึงได้มีการศึกษาถึงผลของ กรดไขมันตัวนี้ที่มีในปลาทะเลที่เป็นอาหารที่หาบริโภคได้ง่ายในคนทุกฐานะ ต่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาครบถ้วนแล้วว่า สารอาหารกลุ่มนี้จะช่วยลดอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมลงได้หรือไม่ อย่างไร เมื่อบริโภคสารนี้จากการกินปลาทะเลในปริมาณสูงเป็นประจำต่อเนื่อง

การศึกษานี้ รายงานล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต จากวารสาร Cancer เมื่อ 27 มีนาคม 2015 โดยเป็นการศึกษาที่นำโดย ดร. Khankari, N. และคณะจาก มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา คือ North Calorina at Chapel Hill เป็นการศึกษาจากการเฝ้าติดตามผลที่เรียว่า Population-based follow-up study โดยศึกษาในผู้ป่วยหญิงมะเร็งเต้านมในรัฐ New York ทั้งหมด 1,463 ราย การศึกษาใช้แบบ สอบถามถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่บริโภคในแต่ละวัน การศึกษานี้ติดตามผลนานเฉลี่ย 14.7 ปี

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่บริโภคปลาทะเลเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปรุงอย่างไร ที่รวมไปถึง การทอด และการเผา พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มบริโภคปลาทะเล มีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม รวมไปจนถึงจากโรคต่างๆต่ำกว่าผู้ไม่บริโภคปลาทะเล ถึง 16-34%

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า การบริโภคปลาทะเลสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงมะเร็งเต้านมลงได้เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มไม่บริโภคปลาทะเล

การศึกษานี้ ช่วยให้ผู้ป่วยหญิงมะเร็งเต้านมมีทางเลือกของชีวิตเพิ่มขึ้นอีกประการ ด้วยวิธีการที่ปฏิบัติได้ง่ายๆ ที่ผู้ป่วยหลายๆคนก็ปฏิบัติอยู่แล้ว ซึ่งการที่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้สนับสนุนข้อมูลนี้ น่าจะเป็นกำลังใจให้มั่นใจว่า สิ่งที่ได้ปฏิบัติอยู่นั้น เป็นเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว

การบริโภคปลาทะเลต่อเนื่อง อาจส่งผลให้มีโลหะหนักบางชนิดสะสมในตัวมากขึ้นได้ เพราะทะเลทั่วโลกเป็นแหล่งทิ้งขยะหลายประเภท จึงได้มีคำแนะนำให้ เลือกกินปลาทะเลหลากหลายพันธ์ และหลากหลายแหล่งที่มา เพื่อลดโอกาสเกิดการสะสมโลหะหนักเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่า ผู้ที่กินปลาทะเลสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง มีโลหะหนักสะสมเกินมาตรการที่การแพทย์กำหนด ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ต้องกังวลจนเกินไปค่ะ

บรรณานุกรม

1.http://en.wikipedia.org/wiki/Omega-3_fatty_acid[2015,Nov21].

2.http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25809414(Abstract) [2015,Nov21].