คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: ปัจจัยที่ไม่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ได้มีบทความกล่าวถึงปัจจัยที่มีข้อสนับสนุนยืนยันจากการศึกษาแน่ชัดว่า “ไม่ส่งผล” หรือไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม คือ

1. การแท้งบุตร

2. ประเภทอาหารและวิตามิน

3. โรลออนระงับเหงื่อใต้วงแขน/ระงับกลิ่นตัว

4. ยาลดไขมันกลุ่ม Statin

การแท้งบุตร

การศึกษาทั้งที่เป็นการศึกษาย้อนหลัง (Retrospective study) และการศึกษาไปข้างหน้า (Prospective study)หลายการศึกษาและจำนวนประชากรที่ศึกษามากพอ ให้ผลการศึกษาตรงกันว่า การแท้งบุตรทุกสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการแท้งตามธรรมชาติ การแท้งที่เกิดจากภาวะผิดปกติต่างๆทางสูติกรรม เช่นปากมดลูกปิดไม่สนิท และรวมถึงการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่สัมพันธ์ หรือ ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

ประเภทอาหารและวิตามิน

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาใดที่จะยืนยันได้ว่า อาหาร หรือ วิตามินประเภท/ชนิดใด สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมอย่างชัดเจน รวมถึงเนื้อสัตว์ ไขมัน นมและผลิตภัณฑ์จากนม และวิตามิน-เอ

อย่างไรก็ตาม กำลังมีการศึกษาว่า อาหารในช่วงแรกเกิด ช่วงที่เซลล์เต้านมกำลังเจริญเติบโต อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งถ้าผลการศึกษานี้มีการเผยแพร่แล้ว จะนำมาเล่าให้ฟังคะ

โรลออนระงับเหงื่อใต้วงแขน/ระงับกลิ่นตัว

เกือบทุกคนใช้ Roll on หรือ deodorant หรือ antiperspirant ที่รักแร้เพื่อระงับกลิ่นตัวและลดเหงื่อ ซึ่งหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นสารเคมี และอยู่ติดกับเต้านม ดังนั้น จะส่งผลถึงการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่

การศึกษาที่เชื่อถือได้จากประเทศตะวันตก และมีจากประเทศอิรัค อีก 1 การศึกษา ที่ศึกษาในผู้หญิงหลายร้อยคน ผลการศึกษาตรงกันว่า อัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มผู้หญิงที่ใช้ และไม่ใช้ โรลออน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มใช้ตั้งแต่อายุวัยใด ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า โรคออน ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม

ยาลดไขมันกลุ่ม Statin

ปัจจุบัน คนอายุยืนขึ้นโดยเฉพาะในผู้หญิง โรคที่ตามมาคือ โรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งยาหลักในการรักษาโรคนี้คือ ยาในกลุ่มสแตติน(Statin) ดังนั้นแพทย์จึงตั้งขอสังเกตว่า ยานี้จะเป็นปัจจัยลด หรือเพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมหรือไม่ ซึ่งมีการศึกษาที่เชื่อถือได้ทางการแพทย์ ที่ศึกษาผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก อย่างน้อย 2 การศึกษา ที่เป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่าง (Randomized control trial) ที่ให้ผลการศึกษาตรงกัน คือ ผู้ป่วยทั้งกลุ่มควบคุม และกลุ่มใช้ยา มีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมไม่ต่างกัน จึงสรุปได้ว่า ยาในกลุ่มนี้ ไม่มีผลลด หรือเพิ่มอัตราการเกิดโรคมะเร็งเต้านม หรือไม่ได้เป็นปัจจัยเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งเต้านม

บรรณานุกรม

http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/prevention/breast/HealthProfessional/page3#Section_642 [2015,Sept19].