คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน: ผลของโรคอ้วนต่อการผ่าตัดรักษามะเร็งรังไข่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่วินิจฉัยได้ยาก ผู้ป่วยมักมีอาการและมาพบแพทย์ต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลามแพร่กระจาย(ระยะที่3, ระยะที่4) ซึ่งการรักษาหลักของโรคระยะรุนแรงนี้ คือ การผ่าตัดร่วมกับยาเคมีบำบัด โดยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้ได้มากที่สุด/ให้เหลืออยู่น้อยที่สุด (Debulking surgery) ยิ่งเหลือก้อนมะเร็งน้อย หรือผ่าตัดออกได้หมด โรคมะเร็งจะตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดได้ดี อัตราการปลอดโรคหลังการรักษาจะสูงขึ้นมาก คือ ผลการรักษาจะดีกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่ผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้น้อยหรือไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดมีผลข้างเคียงเสมอไม่น้อยก็มาก เช่น แผลติดเชื้อ เลือดออกมาก แผลผ่าตัดไม่ติด หรือ ผ่าเอาก้อนมะเร็งออกได้น้อย ซึ่งผลข้างเคียงบางชนิดก็ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น(เช่น แผลผ่าตัดไม่ติด) หรือบางชนิดก็อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (เช่น แผลเลือดออก หรือ การติดเชื้อหลังผ่าตัด) ดังนั้นแพทย์ผ่าตัดจึงอยากรู้ว่า ภาวะความอ้วนของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ส่งผลอย่างไรต่อการผ่าตัด ทั้งนี้เพราะ ปัจจุบัน ทางการแพทย์พบคนทั่วไปมีภาวะความอ้วนสูงขึ้น และความอ้วนเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของการผ่าตัด

การศึกษานี้ โดยคณะแพทย์จาก โรงพยาบาลเมโยในสหรัฐอเมริกา นำโดย พญ. Amanika Kumar โดยศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ที่รับการผ่าตัดรักษาทั้งหมด 620 คน และแบ่งผู้ป่วยเป็น 3 กลุ่ม คือ น้ำหนักตัวปกติ 227 คน อ้วนปานกลาง 353 คน และอ้วนมาก (ค่า ดัชนีมวลกาย มากกว่า/เท่ากับ 40; 40 คน ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่อ้วนมาก มีผลข้างเคียงหลังผ่าตัด(ภายใน 30 วันหลังผ่าตัด)ชนิดรุนแรง สูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นอย่างมีนัยทางสถิติ รวมถึงที่เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตด้วย คือ เสียชีวิต 5% (ในกลุ่มน้ำหนักตัวปกติ เสียชีวิตหลังผ่าตัด 2.7%, กลุ่มอ้วนปานกลาง เสียชีวิต 3.4%) แต่ทั้งนี้ ความอ้วนไม่มีผลต่อการควบคุมโรคมะเร็ง และ/หรือต่อ อัตราการเสียชีวิตสาเหตุจาก มะเร็งรังไข่

ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษานี้คือ การเตรียมผู้ป่วยอ้วนก่อนการผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัด ต้องมีการดูแลที่เข็มงวดกว่ากลุ่มผู้ป่วยน้ำหนักตัวปกติ หรือ อ้วนปานกลางเพื่อช่วยลดผลข้างเคียงหลังผ่าตัด โดยเฉพาะลดอัตราเสียชีวิตหลังผ่าตัด

สรุป จะเห็นได้ว่า โรคอ้วน ถึงแม้บางครั้งไม่มีผลต่อตัวมะเร็งโดยตรง แต่ก็ส่งผลทางอ้อมกระทบต่อผลการรักษาเสมอ ดังนั้นการดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคอ้วน จึงเป็นประโยชน์ต่อทุกๆคน และทุกๆโรค

บรรณานุกรม

Kumar, A. et al. (2014). Gyn Oncol. 135, 19-24