คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การใช้โรลออนเมื่อฉายรังสีมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในการฉายรังสีรักษา เพื่อการรักษามะเร็งเต้านม ถ้าเป็นการใช้เครื่องฉายรังสีรุ่นเก่า รังสีรักษาแพทย์มักแนะนำผู้ป่วย ไม่ให้ถูกน้ำ และไม่ให้ใช้ โรลออน/ยา ระงับกลิ่นตัว (Roll on, deodorant) บริเวณรักแร้ ซึ่งสงผลถึงการใช้ชีวิตของผู้ป่วยระดับหนึ่ง แต่ปัจุบัน เครื่องฉายรังสีรักษาพัฒนาขึ้นมาก จึงมีการศึกษาถึงว่า การใช้ โรลออน ขณะฉายรังสีรักษาในมะเร็งเต้านม เพื่มผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณรักแร้หรือไม่

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากคณะพยาบาลประเทศ ออสเตรเลีย นำโดย พยาบาล L. Lewis ซึ่งศึกษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชาวตะวันตกที่รับการฉายรังสีฯ จากโรงพยาบาลต่างๆในออสเตรเลีย ทั้งหมด 333 คน ในช่วง มีนาคม 2011 -เมษายน 2013 และรายงานผลในวารสารการแพทย์สำคัญทางรังสีรักษา คือ Int J Radiation Oncol Biol Physics เมื่อ พฤศจิกายน 2014 โดยการสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยหญิงมะเร็งเต้านมที่ฉายรังสี อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม(ไม่ใช้โรลออน) มีทั้งหมด 117 ราย, กลุ่มศึกษาที่ใช้โรลออนชนิด ไม่มีสาร Aluminium (อะลูมิเนียม)ตลอดระยะเวลารักษา 109 ราย และกลุ่มที่ใช้ โรลออนชนิดมีอะลูมิเนียม 107 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกกลุ่ม ใช้สบู่บริเวณรักแร้ได้ แต่ต้องเป็นสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิวหนังและไม่ใช้น้ำหอม ส่วนโรลออนก็ต้องเป็นชนิดที่อ่อนโยนต่อผิว(for sensitive skin) ไม่ผสมน้ำหอม

ผลการศึกษาพบว่า ปฏิกิริยา หรือผลข้างเคียงที่เกิดกับผิวหนังในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่มไม่แตกต่างกันทางสถิติ

ผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ผู้ป่วยฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งเต้านมสามารถใช้โรลออนขณะรักษาได้ แต่ควรต้องเป็นชนิดที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง และพบว่า กลุ่มใช้โรลออนชนิดมีอะลูมิเนียม มีเหงื่อออกที่รักแร้น้อยกว่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวมากกว่า

สรุป จากการศึกษานี้ ถึงแม้จะศึกษาในสตรีผิวขาว แต่น่าที่จะนำมาใช้กับสตรีได้ทุกสีผิว รวมทั้งในสตรีไทย เพราะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในการลดกลิ่นตัวช่วงรักษาได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาแพทย์รังสีรักษาที่ดูแลรักษาผู้ป่วยก่อนเริ่มใช้โรลออนในระหว่างฉายรังสีรักษามะเร็งเต้านมก่อนเสมอ และต้องหมั่นสังเกตผิวหนังบริเวณรักแร้ด้านฉายรังสี ซึ่งถ้าเกิดมีแผลเกิดขึ้น ก็ควรหยุดการใช้โรลออนจนกว่าแผลจะหายดี และผิวหนังกลับมาเป็นผิวหนังปกติ

บรรณานุกรม

Lewis, L. et al. (2014). Int J Radiation Oncol Biol Physics. 90, 765-771