คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน:วิธีกินอาหารช่วงรักษาโรคมะเร็ง ตอนที่ 2 (ตอนจบ)

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

สรุปจากตอนแรก อาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดช่วงการรักษา คือ ต้องกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ที่สำคัญ คือ โปรตีนจากเนื้อแดง ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารแสลง และกินมื้อละน้อยๆ แต่บ่อยมื้อ อาหารต้องทำให้ย่อยง่าย ร่วมกับพูดคุยให้ผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นของอาหารที่เหมือนเป็นยาสำคัญชนิดหนึ่ง

เมื่อดูที่ตัวอาหารตามที่เล่าให้ฟังในตอนแรกแล้ว ตอนที่ 2 นี้ ขอเล่าต่อด้วยวิธีทำให้อยากอาหาร คือ เตรียมอาหารให้ สด สุกใหม่ๆทุกมื้อ ไม่ควรค้างเกิน 24 ชั่วโมง (ต้องพูดคุยกันในครอบครัว และผู้ป่วยว่าจะทำได้อย่างไร) การเตรียมอาหารไว้และให้ผู้ป่วยอุ่นด้วยไมโครเวฟ (ไม่ต้องกลัว คุณค่าอาหารไม่เสียไป การแพทย์ยืนยันแล้ว)จะสะดวกสำหรับผู้ป่วยที่ต้องช่วยตนเอง และปลอดภัยกว่าเตาแก๊สมาก

ตักอาหารแต่ละชนิด ให้น้อยลง ให้พอกินแล้วอิ่ม อาจให้หลากหลายชนิด 2- 3 อย่าง ให้ผู้ป่วยช่วยเลือกด้วย ให้พอดีกับที่ผู้ป่วยจะกินได้หมดในแต่ละมื้อ การกินได้หมด จะเป็นกำลังใจว่ากินได้ จะทำให้ไม่ท้อแท้

จัดภาชนะใส่อาหาร น้ำดื่ม ให้สะอาด สวยงาม สดชื่น ใช้ชนิดเป็นกระเบื้อง จะให้ความรู้สึกน่ากินกว่า ชนิดเป็นโลหะ นอกจากนั้น บางคนเมื่อกินหรือเห็นโลหะ จะเกิดอาการคลื่นไส้ หรือรู้สึกสัมผัสรสที่ผิดปกติ

ที่นั่งรับประทาน: ให้อยู่ในสถานที่ถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่มีกลิ่นอาหารอบอวล จะช่วยให้ไม่คลื่นไส้ จัดบรรยากาศอื่นๆ ให้ดูสดชื่น ตามควรกับแต่ละบ้าน เช่น แจกันดอกไม้ รวมทั้งอาจมีการเปิดเพลงเบาๆตามผู้ป่วยชอบ และมีคนคอยนังกิน/คุย ร่วมด้วย

ผู้ดูแลควรชักชวนให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกาย เดินเล่น เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น กระเพาะอาหาร ลำไส้เคลื่อนไหว กระตุ้นการอยากอาหาร ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก

กรณีผู้ป่วยเบื่ออาหารมาก ควร ปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำว่า ควรปรึกษาโภชนากรไหม<.p<

เรื่องต่อมา คือเรื่องผู้ดูแลผู้ป่วย: ผู้ดูแลผู้ป่วย ต้องเข้าใจผู้ป่วย ครอบครัว โรค ต้องอดทน ไม่เครียดไปกับผู้ป่วย ไม่ฝืนผู้ป่วยเพราะถ้าฝืนจนอาเจียน ผู้ป่วยจะเพลียและเสียน้ำเกลือแร่และสารอาหารทางอาเจียน มากกว่า การกินได้น้อย ต้องยอมรับว่า กินได้แค่ไหนก็แค่นั้น เราทำดีที่สุดแล้ว ทั้งนี้ ธรรมชาติของการเจ็บป่วย กระเพาะอาหารและลำไส้จะทำงานได้น้อยลง แปรปรวน จะย่อยอาหารได้ไม่ดี ลำไส้จะไม่ค่อยเคลื่อนไหว จะมีท้องอืด ท้องเฟ้อได้ง่าย ผู้ดูแล และตัวผู้ป่วยเอง(ผู้ดูแลควรบอกเล่าผู้ป่วยด้วย) ควรสังเกตว่าอะไรกินแล้ว ไม่สุขสบาย ซึ่งรวมถึงชนิดอาหาร วืธีปรุง และปริมาณอาหาร และพยายามปรับไปตามนั้น โดยไม่ต้องเครียด ถ้าผู้ป่วยกินไม่ได้จริงๆ ก็นำผู้ป่วยไปโรงพยาบาล พบแพทย์ แพทย์จะแนะนำเอง อาจต้องใช้อาหารเสริม หรือ อาจต้องเปลี่ยนเป็นให้อาหารทางสายให้อาหาร หรือทางหลอดเลือด ครอบครัวควรเตรียมใจไว้ล่วงหน้า ส่วนผู้ป่วยมักยอมรับได้เสมอ ที่ไม่ยอมรับเพราะครอบครัวกลัวแทนว่าผู้ป่วยไม่ยอมรับ แต่ถ้าอนุญาตให้แพทย์แนะนำผู้ป่วยโดยครอบครัวสนับสนุน ผู้ป่วยมักปฏิบัติตามแพทย์แนะนำเสมอ

เรื่องการให้อาหารเสริม ก่อนใช้อาหารเสริม ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และดังกล่าวแล้วในตอนแรกว่า คุณค่าอาหารเสริมจะด้อยกว่าอาหารธรรมชาติ และไม่สามารถทดแทนอาหารธรรมชาติได้ นอกจากนั้น อาการท้องผูกจะมากขึ้น

ผู้ดูแลต้องเข้าใจว่า ถ้ากินไม่ได้ กินได้น้อย ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ต้องเกิดท้องผูก ซึ่งแพทย์จะแนะนำยาระบาย หรือการสวนทวาร หรือการล้วงเอาอุจจาระออกเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการจากท้องผูก เช่น แน่นท้อง อึดอัดท้อง ดังนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องท้องผูกจนส่งผลให้ผู้ป่วยกังวลไปด้วย ให้อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ปรึกษาแพทย์ต่อหน้าผู้ป่วย ผู้ป่วยจะได้เข้าใจอาการ และการดูแลตนเองจากแพทย์โดยตรง

ตัวผู้ป่วยเอง: ควรต้องมีสติ และยอมรับการรักษา เข้าใจว่า อาการเกิดจากอะไร ความจำเป็นในการกินอาหาร ต้องเข้าใจว่า ทุกคนมีความกังวล เครียด กลัว ไม่ใช่เฉพาะแต่กับผู้ป่วยเอง ให้กำลังใจตนเอง ให้กำลังใจครอบครัว พูดคุย บอกเล่า สิ่งที่กลัว สิ่งที่ต้องการ สิ่งที่ไม่ต้องการ และร่วมมือกับครอบครัวในการดูแลตัวผู้ป่วยเอง และช่วยกันดูแลครอบครัวให้ผ่านความเครียดไปด้วยกัน ต้องเข้าใจสังคมปัจจุบัน ที่ครอบครัวอาจจำเป็น ไม่สามารถที่จะอยู่กับเราได้ตลอดเวลา ถ้าพูดคุย บอกเล่าความจริงกันได้ เข้าใจปัญหากันและกันได้ จะลดปัญหาทางอารมณ์/จิตใจลงได้มาก การกินอาหารจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น ความเครียดของผู้ป่วยและครอบครัวจะลดลง

ท้ายนี้ ที่คุยให้ฟัง เป็นเรื่องในภาพรวม ถ้าเห็นประเด็นประโยชน์ที่จะนำไปใช้ ควรต้องปรับใช้ เพราะแต่ละผู้ป่วย และแต่ละครอบครัว จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน แต่หลัก คือ ต้องพูดคุย ปรึกษากันได้ สร้างความเข้าใจในหมู่คนดูแล ครอบครัว และที่สำคัญ คือ ตัวผู้ป่วย ควรต้องรับรู้ เข้าใจ และมีส่วนร่วมในชีวิตของตนเอง ในการตัดสินใจ ซึ่งผู้ดูแล และครอบครัวเอง ก็อย่ากลัวแทนผู้ป่วย เพียงแต่ต้องช่วยเหลือกัน เห็นใจกัน เป็นกำลังใจให้กันและกัน และถ้าผลการรักษาออกมาไม่ดี ต้องไม่กล่าวโทษกัน