คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: วิธีกินอาหารช่วงรักษาโรคมะเร็ง ตอนที่1

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ช่วงนี้มีคนบ่นเรื่อง คุณพ่อ คุณแม่กำลังรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดเป็นส่วนใหญ่ และ/หรือรังสีรักษาบ้างว่า จะทำอย่างไรดีที่จะให้ท่านกินได้มากขึ้น และบำรุงไม่ให้เม็ดเลือดต่ำ

ผู้ป่วยมะเร็ง มักเบื่ออาหาร จากโรคมะเร็งเอง จากปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ(ซึมเศร้า วิตกกังวล กลัว ท้อแท้ อาจสิ้นหวัง ฯลฯ) จากผลข้างเคียงจากการรักษา จากความอ่อนเพลียของร่างกายจากโรค, จากการพบปะผู้คนแปลกหน้า ความเป็นอยู่ที่ไม่คุ้นเคย, จากการเดินทางทุกวันเพื่อมารับการรักษาที่ไม่สะดวกสบาย, บางคนอาจต้องเปลี่ยนที่พักอาศัย เพราะแถวบ้านไม่มีโรงพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งได้ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ที่พักอาศัย เพื่อนบ้าน ประเภทอาหาร ห่วงและคิดถึงบ้าน และขาดคนใกล้ชิดดูแล

ดังนั้นในการดูแลด้านอาหารของผู้ป่วยมะเร็งจึงสัมพันธ์กับหลายเรื่อง ข้อสำคัญ คือ ครอบครัวต้องเข้าใจ ยอมรับ หาทางแก้ปัญหา และต้องให้ผู้ป่วยเข้าใจ ยอมรับ และร่วมมือในการแก้ไขด้วย

ที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้ผู้ป่วย ตระหนักว่า อาหารช่วงนี้ เหมือนยาสำคัญชนิดหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเป็นโรคต้องกินยา เมื่อเป็นมะเร็งจึงต้องกินยา/กินอาหาร ต้องกินตามกำหนด ทั้งขนาดยา/อาหาร และระยะเวลาที่กิน อย่าลังเลสงสัยว่า กินแล้วอาหารจะไปเลี้ยงมะเร็งด้วย จึงต้องงดอาหาร หรือมีอาหารแสลง ข้อนี้พิสูจน์แล้วจากการศึกษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันว่า ไม่มีอาหารแสลงในโรคมะเร็ง และการกินอาหารมีประโยชน์ได้ครบถ้วน 5 หมู่ จะส่งผลให้การรักษามะเร็งได้ผลดี โอกาสรักษาได้ผล หายจากโรคสูงกว่า การจำกัดอาหาร

อาหารช่วงรักษา ที่จะช่วยสุขภาพร่างกายผู้ป่วย ช่วยบำรุงไขกระดูก คือ อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ ที่ต้องเน้นโปรตีนจากสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง/สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพราะมีคุณค่าทางโปรตีนสูงกว่าโปรตีนจาก ปลา สัตว์ปีก และจากพืชมาก รวมไปถึงจากไข่ด้วย ดังนั้นตัดความเชื่อเกี่ยวกับอาหารแสลงให้หมด โปรตีนกลุ่มอาหารเนื้อแดงในช่วงรักษานี้ มีแต่ก่อประโยชน์ ไม่มีโทษในช่วงรักษา กินให้ได้มากที่สุด ให้ผ่านการรักษาไปได้ครบตามเป้าหมาย หลังครบการรักษาแล้วจึงค่อยกลับมากินตามที่อยากกิน หรือตามความเชื่อ แพทย์ทุกคนรับรองได้ 100%ว่า ไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์

นอกจากโปรตีนจากเนื้อแดงแล้ว ก็คือ ผัก(ต้องทำให้เปื่อย ยกเว้นผู้ป่วยอยากกิน) ผลไม้ชนิดต้องย่อยง่าย (ดังนั้น สุกงอก จะดีที่สุด แต่ยกเว้นเมื่อผู้ป่วยอยากกิน) และดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากที่สุด ยกเว้นก่อนนอนประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ตื่นมาปัสสาวะกลางคืนบ่อยจนหลับได้ไม่เพียงพอ หรือแพทย์แนะนำจำกัดน้ำดื่มจากมีโรคอื่นด้วยเช่น หัวใจล้มเหลว

อาหารหมู่ต่างๆนั้น พยายามปรับเปลี่ยนเป็นหลากหลายชนิดหมุนเวียนกันไป กินแต่ละครั้ง/มื้อให้น้อยลง อย่าฝืนเกินไปจะอาเจียน แต่กินให้มากมื้อขึ้น บ่อยขึ้น วันละ 5,6 มื้อ หรือมากกว่า อาหารธรรมชาติจะบำรุงร่างกายและไขกระดูกได้ดีกว่า อาหารเสริม

ไม่กินอาหารเสริมให้มากเกินไป เก็บไว้กินเฉพาะช่วงกินอาหารธรรมชาติไม่ได้จริงๆ เพราะนอกจากคุณค่าทางโภชนาการจะน้อยกว่าอาหารธรรมชาติแล้ว ยังทำให้อิ่ม จนไม่อยากกินอาหารธรรมชาติ

ช่วงรักษา กระเพาะอาหาร และลำไส้ จะแปรปรวน ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ ผะอืดผะอมได้สูง บางคนท้องเสียง่าย บางคนก็ท้องผูก จากผลข้างเคียงของยาขาดการเคลื่อนไหว หดหู่ ขาดน้ำ ขาดผัก ผลไม้ ดังนั้น จึงต้องปรุงอาหารให้ย่อยง่าย นุ่ม เปื่อย กลืน/เคี้ยวง่าย ไม่ต้องกลัว/ไม่ต้องห่วงเรื่อง หวาน มัน เค็ม เพราะกินได้น้อยอยู่แล้ว ปรุงอาหารให้ตามที่คนไข้กินได้หรืออยากกิน จะถูกต้องที่สุด ผู้ดูแลเองก็ต้องสลัดความเชื่อ หรือความกลัวอาหารแสลงออกไปด้วย มีสติ คิดให้เหมาะสมว่าอะไรควร ไม่ควร ไม่ต้องกังวลมากเกินเหตุ ถ้ากลัว ก็สอบถาม แพทย์ พยาบาล

วิธีปรุงอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการทอด ผัดน้ำมัน เพราะจะทำให้คลื่นไส้ได้ง่าย อาหารปิ้ง ย่าง จะลดอาการคลื่นไส้ และจะมีกลิ่นหอม ช่วยการยากอาหารได้ดี และอาหารต้มเปื่อย หรือตุ๋นจะช่วยการย่อยอาหารได้ดีขึ้น ลดท้องอืด ท้องเฟ้อ

ยึดหลักกินน้อย แต่กินบ่อย ดังนั้นผู้ดูแลต้องจัดเตรียมเรื่องนี้ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริงว่า จะทำอย่างไรที่จะเหมาะสมกับแต่ละครอบครัว

ต้องพูดคุยกันในครอบครัว ที่หมายถึงตัวผู้ป่วยด้วย เพื่อให้มีการรู้ข้อมูลที่ตรงกัน รู้ปัญหาอุปสรรค รู้ว่าแพทย์แนะนำอย่างไร รู้ว่าใครจะช่วยอะไรได้ ใครมีปัญหาอะไร วัฒนธรรมไทยมักปิดบังผู้ป่วยในทุกเรื่อง (เชื่อว่าผู้ป่วยจะรับไม่ได้ หรือพูดไปเดี๋ยวอกตัญญู) ซึ่งก่อปัญหามากมายเพราะผู้ป่วยไม่เข้าใจ ไม่รู้ ซึ่งผลด้านลบจะตกกับทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ครอบครัวจะเกิดความเครียดมาก เพราะพูดคุยกันไม่ได้ ไม่เข้าใจกัน

ขอจบตอนนี้ก่อน โดยสรุป เรื่องสำคัญของตอนนี้ คือ ผู้ป่วยต้องได้อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ครบถ้วนทุกวัน ที่สำคัญที่สุด คือ โปรตีนจากเนื้อแดง ไม่ต้องกังวลเรื่องของอาหารแสลง เพราะทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่มีอาหารแสลงสำหรับโรคมะเร็ง