คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: พฤติกรรมการบริโภคกับมะเร็งลำไส้ใหญ่

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การศึกษาปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ มีอย่างก้วางขวาง ต่อเนื่อง แต่การศึกษาที่ผ่านมามักแยกศึกษาเป็นแต่ละปัจจัย แต่การศึกษาที่กำลังเล่าให้ฟังนี้ นำปัจจัยต่างๆที่การศึกษาต่างๆให้ผลว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ มาศึกษารวมกันว่า เมื่อนำมาร่วมกันแล้ว จะมีผลต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างไร

การศึกษานี้ นำโดย ดร. Krasimira Aleksandrova ชาวเยอรมัน จากสถาบัน German Institute of Human Nutrition Potsdam-Rehbrücke โดยระบุว่า พฤติกรรมสำคัญที่ลดปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้ มี 5 พฤติกรรมหลัก ได้แก่ 1.การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนลงพุง, 2.จำกัดอาหารไขมัน, 3.การออกกำลังกายสม่ำเสมอ, 4. ไม่สูบบหรี่ และจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล, และ 5. กินอาหารกากใยสูง เพิ่มผักผลไม้ ปลา โยเกิร์ต จำกัดเนื้อแดง ซึ่งศึกษาในคนยุโรปทั้งหมด 347, 237 รายที่มีอายุ 25-70 ปี ทั้งหญิงและชาย จาก 10 ประเทศในยุโรป โดยเริ่มศึกษาเมื่อ 1 มกราคม 1992- 31 ธันวาคม 2000 และติดตามผลทั้งหมด 12 ปี พบมีการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ทั้งหมด 3,759 ราย การศึกษาได้ดูว่า แต่ละคนที่มีพฤติกรรมต่างๆดังกล่าวนั้น มีใครเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่กี่คน ซึ่งรายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ ชื่อ BMC Medicine (BioMed Central Medicine) ที่เผยแพร่ล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ทเมื่อ 13 ตุลาคม 2014

ผลการศึกษาพบว่า คนที่ยิ่งมีพฤติกรรมเหล่านั้นมากข้อ ยิ่งมีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ‘ลดลง’ ทั้งนี้คนที่มีพฤติกรรมเดียว โอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ต่างจากคนที่ไม่มีพฤติกรรมทั้ง 5 ข้อ; ถ้ามี 2 พฤติกรรม ลดโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ 13% เมื่อเปรียบเทียบกับคนกลุ่มแรก และถ้ามีพฤติกรรมทั้ง 5 ข้อจะลดโอกาสเกิดได้ 37% ทั้งนี้ ผู้ชายได้ผลมากกว่าในผู้หญิง ผลการศึกษานี้รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดเกิดที่ส่วนบนของลำไส้ที่เรียกว่า Colon และลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่เรียกว่า Rectum ซึ่งโอกาสเกิดมะเร็งที่แตกต่างกันนี้ในกลุ่มคนที่ต่างพฤติกรรมกัน แตกต่างกันอย่างมีนัยทางสถิติ

สรุป จากผลการศึกษา ถึงแม้จะเป็นการศึกษาในคนยุโรป แต่น่าปรับใช้ได้กับคนทุกเชื้อชาติที่รวมถึงคนไทย โดยถ้าจะลดปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ควรต้องปรับพฤติกรรมการบริโภคให้ครบทั้ง 5 ข้อดังกล่าว

บรรณานุกรม

  1. http://www.biomedcentral.com/1741-7015/12/168 [2015,July 18]