คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การรักษามะเร็งด้วยรังสีรักษาร่วมกับสารภูมิคุ้มกัน

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

รังสีรักษา เป็นวิธีหลักวิธีหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด อาจโดยใช้รังสีรักษาวิธีเดียว หรือ ร่วมกับการผ่าตัด ยาเคมีบำบัด ฮอร์โมน และ/หรือยารักษาตรงเป้า

การเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีรักษา มีหลายวิธีนอกเหนือการใช้ร่วมกับวิธีรักษาอื่นๆดังกล่าวแล้ว เช่น เครื่องฉายรังสีให้ครอบคลุมเฉพาะจุด เพื่อลดผลข้างเคียงของรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติ(เช่น การฉายรังสี 3 มิติ) หรือการหารังสีชนิดใหม่เพื่อเพิ่มการทำลายเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น เช่น รังสีโปรตรอน หรือรังสีที่มวลต่างๆ (เช่น Heavy ion radiotherapy)ทีญี่ปุ่นสนใจศึกษามาก แต่ปัญหาทางรังสีรักษาที่สำคัญ อีกประการ คือ เซลล์มะเร็งสามารถปรับตัวให้ดื้อต่อรังสีรักษาได้ นี่เป็นอีกสาเหตุลำคัญที่ทำให้โรคมะเร็งไม่หาย(ก้อนเนื้อยุบได้ไม่หมด หรือไม่ยุบ) และ/หรือ ย้อนกลับเป็นซ้ำ

ในการประชุมประจำปี 2014 ของ สมาคมด้านการศึกษาวิจัยโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา American Association for Cancer Research: AACR ที่จัดขึ้นที่ San Diego สหรัฐอเมริกา ช่วง 5-9 เมษายน 2014 ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยในระดับเริ่มต้น คือในหนูทดลอง ถึงการใช้สารภูมิกัน (Immunotherapy) ร่วมกับรังสีรักษาในการรักษาหนูที่ทำให้เกิดเป็นมะเร็ง เต้านม, มะเร็งผิวหนัง, และมะเร็งลำไส้ก

การศึกษานี้โดยคณะนักวิทยาศาตร์จากมหาวิทยาลัย Manchester สหราชอาณาจักร นำโดย ดร. Dovedi,S. โดยจากการการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าเมื่อมีเซลล์มะเร็งตายจากรังสีในแต่ละครั้งของการฉายรังสี เซลล์มะเร็งที่เหลือจะสามารถสร้างสารภูมิคุ้มกันที่ก่อให้เกิดการดื้อต่อรังสีได้ ที่เรียกกระบวนการนี้ว่า PD-1/PD-L1 ดังนั้นคณะผู้ศึกษา จึงทดลองศึกษา โดยให้สารภูมิคุ้มกันที่จะหยุด (Blog) กระบวนการที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้นนี้ ซึ่งสารภูมิคุ้มกันดังกล่าว ได้แก่ Anti PD-L1 หรือ Anti PD-1 mAb โดยให้กับหนูที่เป็นมะเร็งดังกล่าว ร่วมกับการฉายรังสี

ผลการศึกษาพบว่า การรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับการให้สารภูมคุ้มกัน สามารถทำให้ก้อนมะเร็งของหนูยุบได้หมด (CR, Complete response) มากกว่า 60%ของหนูที่เป็นมะเร็ง และมากกว่าการฉายรังสีรักษา หรือให้ยาภูมิคุ้มกัน วิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากก้อนมะเร็งจะยุบหมดแล้ว อัตราการรอดชีวิตของหนูก็สูงกว่า รวมถึงอัตราการย้อนกลับเกิดมะเร็งซ้ำก็ยังต่ำกว่า

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่า การฉายรังสีรักษาร่วมกับการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันที่หยุดกระบวนการ PD1/PD-L1 ของเซลล์มะเร็ง สามารถลดการดื้อรังสีของเซลล์มะเร็งในหนูได้ ดังนั้น จึงคุ้มค่าที่จะทำการศึกษาเรื่องนี้ต่อไปในผู้ป่วยมะเร็ง

เราคงต้องติดตามผลการศึกษาในผู้ป่วยต่อไปว่า จะได้ผลเหมือนในหนูทดลองหรือไม่ ขนาดยา/สารภูมิคุ้มกัน ระยะเวลาของการใช้ยา รวมไปถึงผลข้างเคียงจากยา ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเช่นกัน และถ้ายามีประโยชน์ได้จริง ค่าใช้จ่ายในการรักษา จะอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนสามาถที่จะได้รับยานี้หรือไม่ ข้อนี้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดในการรักษาโรคมะเร็ง เช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. http://cancerres.aacrjournals.org/content/74/19_Supplement/5034.abstract?sid=a4c6682a-ce52-4290-a8c1-e3e989ebe26e [2015,May 16]