คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ยาระบายก่อนส่องกล้องกับไตอักเสบ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscope)เพื่อการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆของลำไส้ จำเป็นต้องทำความสะอาด ล้างเอาอุจจาระในลำไส้ใหญ่ออกให้หมดเสียก่อนด้วยการกินยาระบายล่วงหน้าก่อนตรวจ 1-3 วันร่วมกับการจำกัดอาหารประเภทมีกากอาหารมาก โดยยาระบายที่นิยมใช้กัน คือยาในกลุ่มยา Oral sodium phosphate แต่ต่อมาองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA, U.S. Food and Drug Administration) ได้ออกคำเตือนในการใช้ยานี้ว่า อาจเกิดผลข้างเคียงจนส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ ถึงแม้จะพบเกิดได้น้อยมากๆก็ตาม โดยเกิดจากยานี้ จะทำให้ร่างกายเกิดมีภาวะ Phosphate ในเลือดสูง ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บเฉียบพลันต่อเซลล์ไต เรียกภาวะนี้ว่า Acute phosphate nephropathy ซึ่งอาจส่งผลให้เกิด ไตวายเฉียบพลัน จนถึงเสียชีวิต หรือกลายเป็นโรคไตเรื้อรังได้

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการศึกษานี้ เพื่อให้ทราบว่า ในคนปกติที่กินยาระบายนี้เพื่อการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีโอกาสเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้มากน้อย อย่างไร เพื่อนำผลการศึกษามาปรับใช้ในผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง

การศึกษา โดยคณะผู้ศึกษาจากมหาวิทยาลัย North Carolina at Chapel Hill สหรัฐอเมริกา นำโดย ดร. Layton, J. และผลงานได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อ Clinical Gastroenterology and Heaptology เมื่อเดือน กันยายน ค.ศ. 2014

โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากเวชรเบียนในช่วง มกราคม ค.ศ. 2000 ถึง พฤศจิกายน ค.ศ 2008 ในการนี้มีคนทั่วไปที่กินยาระบาย Oral sodium phosphate เพื่อตรวจส่องกล้องฯ ทั้งหมด 121, 266 ราย(กลุ่มใช้ยา OSP) และกลุ่มเปรียบเทียบที่กินยาระบายตัวอื่นที่ไม่มี Phosphate คือ Pplyehylene glycol 429,430 ราย(กลุ่มควบคุม) ทั้งนี้ผู้รับการศึกษาทั้งหมดไม่มีประวัติกินยา หรือ กินยาระบายมาก่อนอย่างน้อย 30 วันก่อนการตรวจส่องกล้อง ซึ่งการเก็บข้อมูลเก็บหลังจากผู้ป่วยได้รับการส่องกล้องไปแล้ว 6 เดือน

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มใช้ยา OSP เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน คิดเป็น 0.2% ขณะที่กลุ่มควบคุม เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน 0.3% ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ

คณะผู้ศึกษา จึงสรุปว่าในคนปกติที่ไม่มีความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ไม่ได้เป็นโรคไต และไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาที่ส่งผลต่อระดับเกลือแร่ในร่างกาย การกินยาระบาย Sodium phosphate ไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกิดไตวายเฉียบพลัน

สิ่งที่เราในฐานะคนทั่วไปได้จากการศึกษานี้ คือ การกินยาระบายในปริมาณสูงกว่าปกติ จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกายได้ ทั้งอาจจากผลข้างเคียงจากตัวยาเอง หรือจากการเสียน้ำ/เกลือแร่จากการระบายอุจจาระอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้จากความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย/ในเลือด แต่โอกาสเกิดไตวายเฉียบพลันจากสาเหตุนี้ พบได้น้อยมาก คือ ประมาณ 0.2-0.3% ดังนั้นทุกคนหลังการตรวจการส่องกล้องจากการกินยาระบายไม่ว่าจะเป็นตัวยาใด ควรสังเกตตนเองเสมอ ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าอาจเกิดไตอักเสบ หรือไตวายเฉียบพลัน ให้รีบไปโรงพยาบาลด่วน อาการดังกล่าวได้แก่ ปัสสาวะน้อย บวมตามขา และเนื้อตัว ซึม สับสน คลื่นไส้ ถ้ารุนแรงจะมีอาการ แน่นหน้าอก/หายใจลำบาก อาจชัก และโคม่า

บรรณานุกรม

  1. http://www.cghjournal.org/article/S1542-3565(14)00142-6/abstract [2015,April 18]