คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การศึกษาในปัจจุบัน การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้าด้วยการตรวจภาพรังสีเต้านม/แมมโมแกรม(Mammogram) จะให้ประโยชน์ช่วยลดอัตราเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้ รวมทั้งมีความคุ้มค่าที่จะเป็นคำแนะนำสำหรับผู้หญิงทุกคน คือ การตรวจคัดกรองในช่วงอายุ 50-69 ปี แต่ในหญิงตั้งแต่อายุ 70 ปี ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางการแพทย์ที่จะนำมาใช้แนะนำผู้หญิงในวัยนี้ทุกคน และในสังคมปัจจุบัน วัยนี้ก็กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการศึกษาครั้งนี้ เพื่อดูว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในหญิงวัย 70-75 ปี ที่ทำเป็นแบบ Mass screening (ให้บริการกับประชาชนทั่วไป) เช่นเดียวกับในวัย 50-69 ปีนั้น สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมของหญิงวัย 70-75 ปีได้หรือไม่ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้การเสียชีวิต คือ การพบโรคมะเร็งเต้านมในระยะท้าย (ระยะที่ 3,4) ทั้งนี้ ถ้าการตรวจมีประโยชน์จริง ผลการศึกษาควรจะออกมาเป็น พบ มะเร็งเต้านมในระยะแรก (ระยะที่1,2) สูงขึ้น ร่วมกับต้องพบโรคในระยะท้ายลดลง แต่ถ้าผลการศึกษาออกมาต่างไปจากนี้ แสดงว่า การตรวจแมมโมแกรมในหญิงอายุ 70-75 ยังไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

การศึกษานี้มาจากประเทศ เนเทอร์แลนด์ คณะแพทย์ที่ศึกษา นำโดย นพ. Glas, Nienke และได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารการแพทย์ ชื่อ BMJ (British Medical Jourma) ซึ่งลงล่วงหน้าในอินเทอร์เนตเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ. 2557

การศึกษาเป็นการศึกษา แบบ Prospective Nationalwide Population Base Study โดยใช้ข้อมูลจากทะเบียนมะเร็ง และการศึกษาอยู่ในช่วง ปีค.ศ. 1995-2011 โดยศึกษาในหญิงวัย 70-75 ปี ที่ได้รับการตรวจแมมโมแกรมทั้งหมด 25,414 ราย และใช้ข้อมูลจากหญิงวัย76-80 ปีในช่วงระยะเวลาเดียวกัน(ไม่ได้รับการตรวจแมมโมแกรม) เป็นกลุ่มศึกษาเปรียบเทียบ

ผลการศึกษาพบว่า การตรวจแมมโมแกรมเพื่อการคัดกรองช่วยให้พบมะเร็งเต้านมในระยะแรกเพิ่มขึ้นกว่าไม่ได้ตรวจคัดกรองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 362.9 รายต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเปรียนเทียบกับหญิงที่ไม่ได้ตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม คือ 248.7 รายต่อประชากร 100,000 คน หรือประมาณ 1.5 เท่า แต่การตรวจคัดกรองฯ ไม่ได้ช่วยให้พบโรคมะเร็งระยะท้ายได้สูงขึ้น คือ 58.6 รายต่อประชากร 100,000 คน และ 51.8 ราย ต่อประชากร 100,000 คน

ผู้ศึกษาจึงสรุปว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมในลักษณะเป็น Mass screeningในหญิงวัย 70-75 ปี ไม่ก่อประโยชน์ และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการวินิจฉัยโรคที่เกินเห, เกิดการรักษาโดยไม่จำเป็น เพราะหญิงวัย 70-75 ปี มักมีปัญหาทางสุขภาพ ไม่สามารถจะทนต่อการรักษามะเร็งเพื่อการหายขาดได้ การรักษอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่มีคุณภาพชีวิตเนื่องจากผลข้างเคียงจากการรักษา

จากผลการศึกษานี้ ที่นำมาปรับใช้ได้อย่างมีประโยชน์ และเหมาะสม คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในหญิงอายุ 70-75 ปี ไม่ควรทำในลักษณะเป็น Mass screening ควรเลือกทำ/ตรวจเฉพาะในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ และมีการพยากรณ์อายุขัยว่า ควรต้องอยู่ได้เกิน 5 ปีขึ้นไป จึงจะได้ประโยชน์ นอกจากนั้น ยังควรให้เป็นการตรวจด้วยความสมัครใจ น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า

บรรณานุกรม

  1. http://www.bmj.com/content/349/bmj.g5410 [2015,March 21].