คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ขนาดของกระโปรงกับมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ตอนนี้ ก็เรื่องมะเร็งเต้านมอีกแล้วคะ เพราะดังเลาให้ฟังหลายครั้งแล้วว่า ชาติตะวันตก ผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมสูงมาก ในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 1ใน 10 ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ดังนั้น แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ของเขา จึงพยายามหาตัวแปร หรือปัจจัยที่ช่วยพยากรณ์โอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านม หรือ ปัจจัยเสี่ยง เพื่อนำมาช่วย ในการป้องกัน ในการวินิจฉัยได้เร็วขึ้น และเป็นข้อมูลช่วยประกอบในการตรวจจรักษาของแพทย์

เรื่องที่จะเล่าวันนี้ ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ (British Medical Journal) จากสหราชอาณาจักร โดยลงล่วงหน้าในอินเทอร์เน็ทเมื่อ 25 กันยายน 2557 ทั้งนี้กลุ่มผู้ศึกษา นำโดย Fourkala, E และคณะ ได้ศึกษาโดยใช้การสอบถามข้อมูล และติดตามผลไปข้างหน้า (Prospective co-hort study) ข้อมูลอยู่ในช่วง 2 มกราคม 2005 ถึง 1 กรกฎาคม 2010 ผู้เข้าร่วมศึกษาเป็นผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี(มัธยฐานของอายุอยู่ที่ 64.0 ปี) ทั้งหมด 92,834 ราย โดยดูจากขนาดกระโปรงที่เพิ่มขึ้น อย่างน้อย 1 เบอร์ในทุกๆ 10 ปี เปรียบเทียบกับตั้งแต่เมื่ออายุ 25 ปี

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ที่มีขนาดกระโปรงเปลี่ยนแปลงไป 1 เบอร์ทุกๆ 10 ปี เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมได้ 33% และเมื่อเปลี่ยนไปถึง 2 เบอร์ โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มเป็น 77% ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากขนาดของกระโปรงนี้ ไม่ขึ้นกับค่าดัชนีมวลกาย ผู้ศึกษาจึงสรุปว่า ขนาดรอบเอว (ตัวที่ทำให้ขนาดกระโปรงเปลี่ยน) ที่เพิ่มขึ้น 1 เบอร์ในทุก 10 ปี เป็นตัวพยากรณ์ว่า มีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้ ประมาณ 33%

การใช้ขนาดกระโปรง เพราะเป็นเรื่องง่ายที่ผู้หญิงจะจำได้ ไม่ยุ่งยากเหมือนค่าดัชนีมวลกาย หรือการวัดขนาดรอบเอว ดังนั้นในทางปฏิบัติ จึงใช้เป็นตัวบอกปัจจัยเสี่ยงได้ง่ายกว่า

การที่ความอ้วนที่รอบเอว สามารถบอกปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ เป็นเพราะไขมันที่สะสมรอบเอว มีลักษณะพิเศษกว่าไขมันส่วนอื่น เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนได้สูงกว่าไขมันส่วนอื่น ซึ่งเอสโตรเจนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม และต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านม ส่วนที่ศึกษาเฉพาะวัยหมดประจำเดือน เพราะเป็นวัยที่พบเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้สูง และธรรมชาติของโรคมะเร็งบางอย่าง เช่น สาเหตุที่เป็นปัจจัยเสี่ยง จะต่างจากโรคในวัยยังมีประจำเดือน การแบ่งกลุ่มศึกษาจึงได้ข้อมูลที่ชัดเจนกว่า

เมื่อทราบแล้วก็อย่ากลัว หรือกังวลจนเกินเหตุ ใช้ความรู้นั้นในด้านบวกโดยหันมาดูแลตนเอง ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกาย จะช่วยเพิ่มทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจคะ

แหล่งข้อมูล

  1. Fourkala,E. et al. (2014). BMJ. http://bmjopen.bmj.com/content/4/9/e005400 [2015,Feb 21].