คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ความสัมพันธ์ระหว่าง มะเร็งเต้านม ความอ้วน และวัยหมดประจำเดือน

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เรื่องนี้ ยังอยู่กับความอ้วน และก็ยังคงพูดถึงมะเร็งเต้านม เพราะเป็นมะเร็งพบบ่อยที่สุดของผู้หญิง โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก การแพทย์ตะวันตก จึงพยายามศึกษาในทุกรูปแบบ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยง เพราะตระหนักว่า การป้องกันเท่านั้น ที่จะเอาชนะโรคนี้ได้มีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้รวมถึงด้านเศรษฐกิจที่ต้องใช้จ่ายมหาศาลในการรักษา

การศึกษาที่ผ่านๆมาพบว่า เนื้อเยื่อไขมันชนิดสีขาว (White adipose tissue) ที่พบได้สูงในอวัยวะต่างๆของคนโรคอ้วน โดยเฉพาะเมื่อเนื้อเยื่อไขมันนี้มีการอักเสบ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของเนื้อเยื่อนั้นๆได้ และไขมันสีขาวมีความสัมพันธ์กับการสร้างและการใช้ฮอร์โมนอินซูลินของร่างกาย ซึ่งอินซูลินจะมีสารที่มีคุณสมบัติเป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์เจริญผิดปกติได้ (Insulin –like growth factor 1/IGF 1)

เต้านม เป็นอวัยวะที่สะสมเซลล์/เนื้อเยื่อไขมัน ดังนั้นแพทย์จึงต้องการทราบถึงความสัมพันธ์ของโรคอ้วนกับโรคมะเร็งเต้านม

การศึกษาด้าน มะเร็งเต้านม ที่น่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่ จะแบ่งการศึกษาเป็นในกลุ่มสตรีที่ยังมีประจำเดือน/วัยเจริญพันธ์ และในกลุ่มวัยหมดประจำเดือน เพราะทั้ง 2 กลุ่มวัย มีธรรมชาติของโรคบางอย่างเหมือนกัน บางอย่างต่างกัน จากการมีฮอร์โมนเอสโตรเจนในวัยยังมีประจำเดือน และการพร่อง/ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน จากรังไข่ในวัยหมดประจำเดือน

การศึกษาที่หาสาเหตุว่า ทำไมโรคอ้วนจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม ได้รายงานในการประชุมวิชาการประจำปีที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งที่เรียกว่า ASCO (American Society of Clinical Oncology) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 4-6 กันยายน พ.ศ.2557 โดยเป็นการศึกษา ของคณะแพทย์จากโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา ชื่อ Memorial Sloan Kettering Cancer Center ในนิวยอร์ค นำโดย นพ. Iyengar,N. โดยศึกษาจากการตรวจทางพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อจากเต้านม ของผู้หญิงทั้งกลุ่มยังมีประจำเดือน และกลุ่มหมดประจำเดือนแล้ว ร่วมทั้งหมด 238 ราย ผู้หญิงเหล่านี้ มีค่ามัธยฐานของอายุ (ค่าตรงกลางของการแบ่งอายุ/Median) คือ 48 ปี และค่าความอ้วนดูจาก ค่า ดัชนีมวลกาย

ผลการศึกษาพบว่า เนื้อเยื่อเต้านมของผู้หญิงอ้วน ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน(วัยที่พบโรคมะเร็งเต้านมได้สูง) มีไขมันสีขาวที่มีการอักเสบสูงกว่า เนื้อเยื่อเต้านมในผู้หญิงวัยมีประจำเดือน หรือในคนผอม ทั้งนี้ความแตกต่างเหล่านี้ มีนัยสำคัญทางสถิติทั้ง 2 กรณี ผู้ศึกษา จึงสรุปผลการศึกษาว่า ความอ้วนที่วัดจากค่าค่าดัชนีมวลกาย หรือ วัยหมดประจำเดือน ทั้ง 2 ปัจจัย เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

สำหรับผู้หญิงเรา ผลการศึกษานี้ช่วยให้เราลดปัจจัยเสี่ยงสำคัญปัจจัยหนึ่งในการเกิดมะเร็งเต้านมลงได้ นั่นคือ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะ/โรคอ้วนโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

บรรณานุกรม

  1. http://meetinglibrary.asco.org/content/136562-151 [2015,Jan17]