คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ผู้ป่วยมะเร็งมีลูกได้ไหม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เมื่อวันก่อน ผู้ป่วยหญิงโรคมะเร็ง ได้มาปรึกษาว่า อยากมีลูก ฝ่ายหญิงอายุ 26 ปี ฝ่ายชาย อายุ 31 ปี อยู่ในวัยเป็นผู้ใหญ่ และมี สติ สัมปชัญญะสมบูรณ์ ทั้งคู่

ไม่มีข้อห้ามการมีบุตรสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ ถ้าฝ่ายชาย เป็นมะเร็ง เพราะ ชาย ไม่ได้ตั้งครรภ์ และการดูแลลูก โดยเฉพาะเมื่อแรกเกิด และช่วง 1ขวบแรกของเด็ก การเลี้ยงดูส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด จะเป็นภาระของมารดา ดังนั้น การมีลูกของผู้ป่วยมะเร็งชาย จึงไม่มีปัญหา ถ้าสุขภาพร่างกายแข็งแรงพอ ก็สามารถมีบุตรได้ทุกเมื่อที่รวมไปถึงช่วงที่กำลังรักษาโรคมะเร็งอยู่ และไม่ขึ้นกับชนิดของมะเร็งที่เป็น

แต่ถ้าฝ่ายหญิงเป็นมะเร็ง การตั้งครรภ์ ต้องคำนึงถึง ชนิดของเซลล์มะเร็งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศที่จะเกิดในช่วงตั้งครรภ์ เช่น มะเร็งเต้านม รวมถึง การที่ยาเคมีบำบัด จะผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ หรือ รังสีรักษาที่ต้องใช้ปริมาณรังสีสูง ที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ความเครียด ความกลัว และการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกาย ดังนั้น ผู้ป่วยฝ่ายหญิง แพทย์จึงแนะนำไม่ให้ตั้งครรภ์ ในช่วงการรักษา

ภายหลังการรักษามะเร็งครบแล้ว ถ้าฝ่ายหญิง ประสงค์จะตั้งครรภ์ ควรต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ ด้านตัวโรคมะเร็ง ด้านสังคม และตัวเด็กเอง

ด้านตัวโรคมะเร็ง

  • ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาแพทย์ว่า การตั้งครรภ์จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งแพร่กระจาย และ/หรือการย้อนกลับเป็นซ้ำหรือไม่
  • เมื่อโรคเกิดเป็นซ้ำ และ/หรือแพร่กระจาย ในช่วงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยและครอบครัวจะดูแล ตัดสินใจการรักษาอย่างไร ที่สำคัญ คือ การทำแท้งทาง การแพทย์(เพราะการรักษามะเร็งอาจส่งผลต่อความพิการรุนแรงของทารก) หรือ จะปล่อยให้ตั้งครรภ์จนครบ คลอด แล้วจึงรักษา ซึ่งโรคมะเร็งก็จะ ลุกลามแพร่กระจายมากขึ้น เสี่ยงต่อชีวิตมารดาอย่างแน่นอน
  • ถ้าตรวจพบเด็กมีความพิการ ขณะอยู่ในครรภ์ ผู้ป่วยและครอบครัวจะตัดสินใจการรักษาอย่างไร

ด้านสังคม

  • ต้องการมีบุตรเพราะอะไร
  • ฝ่ายใดหรือทั้ง 2 ฝ่าย ต้องการมีบุตร ครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่าย คิดเห็นอย่างไร
  • ฐานะทางเศรษฐกิจเอื้ออำนวยไหม
  • ผู้ป่วยและครอบครัว ต้องพร้อมที่จะเผชิญปัญหาเด็กอาจมีความพิการแต่กำเนิด
  • ถ้าเกิดปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยโดยเฉพาะมารดา ใครจะเป็นคนดูแลเด็ก
  • ครอบครัว ที่หมายถึง สามี/ภรรยา และครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่าย สามารถช่วยเหลือดูแลเด็กและผู้ป่วย ได้มากน้อยอย่างไร ในด้านใดบ้าง/รับภาระอะไรได้บ้าง

ด้านเด็กที่จะเกิดมา

ผู้ป่วยควรปรึกษา หมอเด็ก/กุมารแพทย์ สูตินรีแพทย์ และจิตแพทย์ ก่อนว่า เด็กที่เติบโตจากพ่อหรือแม่เป็นมะเร็ง จะมีปัญหาด้านจิตใจ ที่อาจส่งผลถึงการเจริญเติบโตทั้งกายและใจของเด็กหรือไม่ อย่างไร การเลี้ยงดูควรเป็นอย่างไร และนำมาข้อมูลทั้งหมดมาร่วมตัดสินใจ

สรุป การตั้งคำถาม ถึงสิ่งที่ต้องการ รู้ข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อจำกัด ผลลัพท์ด้านบวก และด้านลบ วิธีการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น ที่แก้ได้อย่างจริงๆ มีการยืนยัน มีหลักฐานประกอบ ไม่ใช่คิดเอาเอง หลังจากนั้น จึงค่อยตัดสินใจ ว่า ควร หรือ ไม่ควรตั้งครรภ์