คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: กาแฟกับโรคมะเร็ง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

กาแฟ เป็นเครื่องดื่มที่บริโภคกันแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยโดยเฉพาะคนวัยทำงาน จึงมีคนให้ความสนใจว่า มันเกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือไม่ อย่างไร

กาแฟ ได้มาจากผลของต้นกาแฟ พืชไร่ที่มีอุดมสมบูรณ์ในประเทศแถบ ลาตินอเมริกา อัฟริกา และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมประเทศไทยด้วย ซึ่งกาแฟที่ผลิตในบ้านเราที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก คือ กาแฟจากดอยช้าง เชียงราย

สารสำคัญในกาแฟ คือ Caffeine นักวิทยาศาสตร์ นักโภชนาการ และทางการแพทย์ ได้ศึกษาอย่างกว้างขวางในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคกาแฟ ในปี ค.ศ. 2012 มีการศึกษาทางการแพทย์ที่รายงานถึงผลของกาแฟต่อการเกิดโรคต่างๆ และ ต่ออัตราการเสียชีวิต โดย ดร. Neal D. Freedma และคณะ จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และได้ตีพิมพ์ในวารสารสำคัญทางการแพทย์ คือ NEJM เมื่อ พฤษภาคม ค.ศ. 2012 โดยศึกษาในประชากรปกติที่ดื่มกาแฟในปริมาณหลากหลายต่อวัน (ที่ไม่มีโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง)ทั้งหญิงและชายในช่วงอายุ 50-71 ปี ทั้งนี้เป็นหญิง 173,141 คน เป็นชาย 229,119 คน ศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1995-1996 และติดตามผลนานถึง 13 ปี (ค.ศ. 2008) ทั้งนี้ เป็นการศึกษาโดยการใช้แบบสอบถาม โดยแบ่งกลุ่มที่ศึกษาเป็น ไม่ดื่ม, ดื่มน้อยกว่า 1 ถ้วย/วัน, ดื่ม 1 ถ้วย/วัน, ดื่ม 2-3 ถ้วย/วัน, ดื่ม 4-5 ถ้วย/วัน, และดื่มตั้งแต่ 6 ถ้วย/วันขึ้นไป

ผลการศึกษาพบว่า การดื่มกาแฟไม่ได้เป็นสาเหตุของโรค และไม่ได้เพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ดังนี้ โรคหัวใจ โรคปอด โรคหลอดเลือดสมอง, อุบัติเหตุ, การติดเชื้อ, และ โรคมะเร็ง

ในด้านเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง ดร. Kushi,L และคณะ จาก สถาบันและสมาคมต่างๆด้านโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกา ก็ได้ศึกษาถึงผลของ กาแฟต่อการเกิดโรคมะเร็ง รวมไปถึงการป้องกันโรคมะเร็ง จากการรวบรวมงานการศึกษาจากทั่วโลกและรายงานในวารสารสำคัญทางการแพทย์อีกเล่ม คือ CA Cancer J Clin ในเดือน มกราคม/กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ก็ได้ผลสอดคล้องกันว่า กาแฟ ไม่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง ทั้งในด้าน การเป็นสาเหตุ และในด้านการป้องกัน โรคมะเร็ง

*****สรุป การบริโภคกาแฟ ไม่มีผลต่อ โรคมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม กาแฟมีฤทธิ์ เป็นสารกระตุ้นระบบประสาท เพิ่มการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ ลดการดูดซึมธาตุเหล็ก กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ช่วยขับแคลเซี่ยมออกทางปัสสาวะ การดื่มกาแฟ จึงอาจเป็นสาเหตุ ของ อาการปวดท้อง ท้องเสีย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ โรคกรดไหลย้อน ซีด และ/หรือ โรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะเมื่อดื่มในปริมาณมาก กล่าวคือ มากกว่า 250 มิลลิกรัม/วัน (เกิน 3 ช้อนชาต่อวัน) ทั้งนี้หมายถึงในคนปกติ ไม่รวม เด็ก หญิงตั้งครรภ์ (กาแฟผ่านรกเข้าไปในทารกได้) หญิงให้นมบุตร (กาแฟจะออกมาในน้ำนมได้) หรือในผู้ป่วยโรคต่างๆ (ซึ่งปริมาณกาแฟ/วัน ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วย)

บรรณานุกรม

  1. Kushi, L. et al. (2012). CA Cancer J Clin. 62, 30-67 [2014,Dec20]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Health_effects_of_caffeine [2014,Dec20]
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Coffee [2014,Dec20]
  4. http://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa1112010 [2014,Dec20]