คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: เอกซเรย์ในเด็ก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

เอกซเรย์ (X-ray) เป็นชื่อที่คุ้นหูทีเดียว ใครเจ็บป่วย ก็อยากเอกซเรย์ เพราะทุกคนเชื่อว่า เอกซเรย์จะช่วยวินิจฉัยโรคได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะวินิจฉัยโรคได้ ขึ้น อยู่กับ 2 สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และการตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยแพทย์ ส่วนการตรวจด้วยวิธีอื่นที่รวมถึงเอกซเรย์ เป็นการช่วยว่า ที่แพทย์วินิจฉัยยนั้น ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ไหม

เอกซเรย์ เป็นรังสีชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า รังสีเอกซ์ ที่มีผลต่อเซลล์อ่อน โดยเมื่อได้รับในปริมาณสูง อาจส่งผลให้เซลล์ฝ่อตัว หรือ กลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ ในระยะยาว ดังนั้น หลายคน จึงกลัวการเอกซเรย์ โดยเฉพาะเมื่อเป็นการตรวจในเด็ก เพราะกลัวผลการเป็นมะเร็ง หรือ เป็นหมัน

ในความเป็นจริง เอกซเรย์ปริมาณน้อยๆ ไม่มีผลกระทบต่อเซลล์ เราได้รับเอกซเรย์กันทุกวันอยู่แล้วจากบรรยากาศรอบตัวเรา โดยเฉพาะจากแสงอาทิตย์

ในการแพทย์ เอกซเรย์มี 2 รูปแบบการนำมาใช้ คือ ใช้ช่วยแพทย์วินิจฉัยโรค และใช้ในการรักษาโดยเฉพาะรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งการใช้รักษาโรคจะใช้เอกซเรย์ปริมาณสูงกว่าในการวินิจฉัยโรคมากมาย จึงส่งผลกระทบต่อเซลล์ได้

เอกซเรย์ทางการวินิจฉัยโรค ผู้ป่วยจะได้รับปริมาณรังสีในระดับน้อยมากๆ ถึงแม้จะเป็นเซลล์ตัวอ่อน อย่างเช่น ทารกในครรภ์ก็ตาม ดังนั้น การเอกซเรย์เพื่อการวินิจฉัยโรคทั่วไปในเด็กจึงอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยที่เดียว รวมถึงทารกในครรภ์ ถ้าไม่ใช่การตรวจที่เจาะจงลงไปที่ตัวมดลูก และเป็นการตรวจในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ที่เซลล์มนุษย์จะไวต่อเอกซเรย์สูงสุด

ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีรายงานถึงผลกระทบของเอกซเรย์ต่อเด็กที่ได้รับการเอกซเรย์วินิจฉัยโรคทั่วไป ยกเว้นในเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ที่จำเป็นต้องได้รับการเอกซเรย์มากมายด้วยเทคนิคยุ่งยากต่างๆ และซ้ำๆ จนเกือบตลอดชีวิตของเด็ก

เนื่องจากการใช้เอกซเรย์ ในการช่วยวินิจฉัยโรค มีความปลอดภัยที่สูงมาก ดังนั้นองค์กร/องค์การที่เกี่ยวข้องกับการนำเอกซเรย์มาใช้ทางการแพทย์ทั่วโลกที่รวมถึง องค์การอนามัยโรค และ ไอเออีเอ (IAEA, The International Atomic Energy Agency) จึงให้คำแนะนำในการใช้เอกซเรย์วินิจฉัยโรคในผู้ป่วยที่รวมถึงในผู้ป่วยเด็กว่า ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์(ไม่มีข้อจำกัดของปริมาณรังสี) โดยให้ใช้หลักการ/กฏ ที่เรียกว่า อะลารา (As Low As Reasonably Achievable:ALARA) แปลว่า ให้ใช้เอกซเรย์เฉพาะกรณีมีข้อบ่งชี้การใช้ทางการแพทย์เท่านั้น/เท่าที่จำเป็น เพราะแพทย์ทุกคนได้ผ่านการเรียนรู้ถึงเรื่องของเอกซเรย์ รู้ข้อบ่งชี้ ข้อจำกัด และอันตราย โดยเฉพาะการใช้ในเด็ก และหญิงตั้งครรภ์

ทุกคน รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่ ไม่ต้องกังวลเกินเหตุ เมื่อแพทย์จำเป็นต้องให้การวินิจฉัยด้วยเอกซเรย์รวมถึงในด็ก แต่ควรระวังในขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก

ดังนั้นเพื่อช่วยกัน ป้องกันอันตรายจากเอกซเรย์ ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ทุกคนต้องจำวันมีประจำเดือนครั้งล่าสุดให้ได้ รวมทั้งระยะเวลาขาดประจำเดือน และการตั้งครรภ์ เพื่อแจ้งต่อเจ้าหน้าทีเอกซเรย์ นอกจากนั้น ผู้ป่วย/ผู้ปกครอง ต้องไม่รบเร้าให้แพทย์เอกซเรย์วินิจฉัยโรค เมื่อแพทย์ลงความเห็นว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการใช้เอกซเรย์

บรรณานุกรม

  1. https://rpop.iaea.org/RPOP/RPoP/Content/SpecialGroups/2_Children/#Child_FAQ05 [2014,Dec20]
  2. http://www.bfs.de/en/ion/beruf_schutz/grenzwerte.html [2014,Dec20]