คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ถั่วเหลืองกับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ในถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองโดยเฉพาะนมถั่วเหลืองและเต้าหู้มีสารธรรมชาติ ที่เรียกว่า Isoflavone ที่มีคุณสมบัติเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนของพืช (Phytoestrogen) ที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิง แต่ออกฤทธิ์อ่อนกว่ามาก ดังนั้นการบริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำ จึงเป็นเรื่องน่าศึกษามากสำหรับแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ว่า จะมีความสัมพันธ์กับมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรคสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือไม่ ซึ่ง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างถั่วเหลืองกับโรคมะเร็ง ได้นำมาเล่าให้ฟังเป็นระยะๆอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ครั้งนี้ ขอเล่าให้ฟังในเรื่องของถั่วเหลืองกับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (อ่านเพิ่มเติมเรื่องของมะเร็งชนิดนี้ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก)

การศึกษานี้ ทำการศึกษาผู้หญิงในประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า JPHC study( Japan Public Health Center-based Prospective study) ซึ่งเป็นกลุ่มได้รับการสนับสนุนในการป้องกันควบคุมโรคมะเร็งของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศญี่ปุ่น นำโดย Budhathoki, S. โดยเป็นการศึกษาที่ติดตามผลไปข้างหน้าที่จะทำให้ผลการศึกษาน่าเชื่อถือกว่าการศึกษาย้อนหลัง (Poulation-based prospective cohort study) และรายงานผลในวารสารการแพทย์ชื่อ (BJOB, British Journal of Obstetrics & Gynecology) เมื่อ มิถุนายน พ.ศ.2557

โดยศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 1995-1998 ด้วยการสอบถามผู้หญิงญี่ปุ่นปกติ 49,121 ราย อายุช่วง 45-74 ปี และแต่ละรายจะได้ติดตามโดยการสอบถามเช่นกันในระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อติดตามผู้ถูกศึกษาได้นานเฉลี่ย 12.1 ปี พบผู้หญิงกลุ่มนี้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกทั้งหมด 112 ราย และพบว่า การกินถั่วเหลือง/ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ในปริมาณต่างๆ ไม่มีผล ทั้งในด้าน เป็นปัจจัยเสี่ยง หรือเป็นปัจจัยป้องกัน ต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้

ผลการศึกษานี้ ช่วยให้ข้อมูลแก่เราเป็นเบื้องต้น ดังนั้น ก็ควรกินถั่วเหลืองแต่พอควร เพราะการกินมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดท้องอืด ท้องเฟ้อ กินจนอิ่มเลยไม่กินอาหารอื่น เลยขาดสารอาหารอื่นๆ หรือบางคน(ส่วนน้อย)อาจแพ้ถั่วเหลืองได้ เพราะการกินอาหารที่จะยังประโยชน์ต่อร่างกาย คือ กินอาหารให้หลากหลายประเภท ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน จำกัด อาหารไขมัน แป้ง หวาน เค็ม เนื้อแดง(เนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) เพิ่มผักผลไม้ แต่ประโยชน์จะเกิดสูงขึ้นเมื่อร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน

บรรณานุกรม

    http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/1471-0528.12853/abstract [2014, Nov 15].