คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอนที่ 9

เรายังคงเล่าเรื่องของแพทย์ที่ให้การรักษาตัวโรคมะเร็งว่ามีสาขาไหนบ้าง ซึ่งดังกล่าวแล้วว่า แพทย์รักษาโรคมะเร็งมีหลายสาขามาก ได้แก่ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์หูคอจมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวิทยา อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา นรีแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ แพทย์รังสีร่วมรักษา วิสัญญีแพทย์ และแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

ซึ่งที่ได้เล่าไปแล้ว คือ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์ หู คอ จมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวทยา อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา และนรีแพทย์มะเร็งวิทยา

วันนี้เป็นเรื่องของ แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์คะ

แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์

แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine) เป็นแพทย์ทั่วไปที่เข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะทางต่ออีก 3 ปี ในสาขา รังสีวิทยาทั่วไป (General radiology) ซึ่งดูแลรักษาและให้การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยรังสี (รังสีที่ใช้ตรวจและรักษาโรค) ที่เรียกว่า รังสีไอออนไนซ์ (Ionized radiation) โดยจะฝึกอบรม ทั้งในสาขา รังสีวินิจฉัย (Diagnostic radiology) สาขารังสีรักษา (Radiation therapy and oncology) และสาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ แต่ปัจจุบัน ถ้าแพทย์ทั่วไปสนใจเฉพาะ ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ก็เข้ารับการฝึกอบรมต่อจากจบแพทย์ทั่วไป โดยฝึกอบรมเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อีก 3 ปี จบแล้วก็จะเป็นแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์คะ

แพทย์ด้านนี้ ในการฝึกอบรมในปีแรก จะต้องเรียนเพิ่มเติมในวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านฟิสิกส์การแพทย์ (Medical physics) และชีวรังสี (Radiobiolgy)

แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ คือ แพทย์ที่ให้การตรวจและการรักษาโรคด้วยสารกัมมันตรังสี หรือ ไอโซโทป (Isotope) โดยเป็นการให้สารกัมมันตรังสีเข้าสู่ภายในร่างกาย อาจให้โดยการกิน การฉีดเข้าหลอดเลือด หรือฉีดเข้าไปในโพรง/ชองต่างๆของร่างกาย เช่น ช่องท้อง โพรงเยื่อหุ้มปอด หรือโพรงน้ำไขสันหลัง ทั้งนี้สารกัมมันตรังสีเกือบทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบของของเหลวเป็นหลัก ซึ่งมักเรียกว่า “ยารังสีหรือสารเภสัชรังสี (Radiopharmaceutical drug)”

เภสัชรังสีเหล่านี้ เมื่อให้เข้าสู่ร่างกายแล้วจะสลายตัวหมดสภาพการแผ่รังสีไปเองตามคุณสมบัติของรังสีแต่ละตัว ที่เรียกว่า ระยะครึ่งชีวิต (Half life) เช่น

  • สารรังสีไอโอดีน (Iodine 131) ที่ใช้รักษาโรคของต่อมไทรอยด์ มีระยะครึ่งชีวิตประมาณ 8 วัน
  • สารรังสีเทคนีเชียม (Technetium 99m) ที่ใช้ในการตรวจโรค มีระยะครึ่งชีวิต 6 ชั่วโมง
  • สารฟลูออร์รีน (Fluorine 18) ที่ใช้ในการตรวจที่เรียกว่า เพทสะแกน (PET scan) มีระยะครึ่งชีวิต 110 นาที เป็นต้น

ดังนั้นผู้ป่วยที่ทำการรักษาด้วยสารรังสีเหล่านี้ที่มีระยะครึ่งชีวิต นานเป็นวัน (นานกว่าชนิดที่ใช้ตรวจวินิจฉัยมากและยังจะใช้ในปริมาณที่สูงกว่าในการตรวจมากด้วยเช่นกัน) เมื่อได้รับการรักษาจึงจำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาล ในห้องแยกต่างหาก เป็นห้องที่มีผนัง และฉากต่างๆ เพื่อการป้องกันอันตรายจากรังสีที่แผ่จากในตัวผู้ป่วย(จากสารรังสีต่างๆ) ไม่ให้ไปโดนคนใกล้ชิดรอบข้างซึ่งรวมทั้งแพทย์ พยาบาลและบุคคลการทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ป่วยจะอยู่ในห้องนี้ ประมาณ 3-10 วัน หรือขึ้นกับชนิดของสารรังสีที่ใช้รักษา คือ อยู่จนกว่าเครื่องตรวจจับรังสี จะได้รังสีต่ำจนอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยที่ผู้ป่วยสามารถจะคลุกคลีกับคนทั่วไปได้ตามปกติ แพทย์จึงจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้

โรคมะเร็งที่จะให้การรักษาโดยแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จะต้องเป็นโรคมะเร็งที่ชนิดของเซลล์มะเร็งจับกินสารเภสัชรังสีได้ ซึ่งเมื่อผู้ป่วย กิน หรือ ฉีดสารเภสัชรังสีเข้าไป เซลล์มะเร็งเหล่านี้ ก็จะจับกินสารรังสี สารรังสีจึงปล่อยพลังงาน/แสง/รังสี ฆ่าเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้แซลล์มะเร็งบาดเจ็บและตายในที่สุด เช่น ในการกินน้ำแร่รังสีในการรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

แต่เนื่องจากถ้าต้องใช้เภสัชรังสีในปริมาณสูงมาก รังสีอาจฆ่าทำลายเซลล์ปกติได้มาก โดยเฉพาะเซลล์ไขกระดูกที่ไว/หรือตอบสนองต่อรังสีได้สูงกว่าเซลล์ชนิดอื่นๆมาก ดังนั้น การรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ จึงมักให้การรักษาตามหลังการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกก่อน เพื่อให้เหลือเซลล์มะเร็งให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้ลดปริมาณน้ำแร่/ยาแร่รังสีที่จะใช้รักษาผู้ป่วยให้เหลือปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ จะประจำอยู่เฉพาในโรงพยาบาลที่มีการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ มีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน และโรงพยาบาลที่มีแผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์เท่านั้น โดยจะตรวจรักษาผู้ป่วยเฉพาะในระบบนัดล่วงหน้า และระบบการรับปรึกษาจากแพทย์ทั่วไป และจากแพทย์สาขาต่างๆเท่านั้น ไม่มีการตรวจผู้ป่วยนอกทั่วไป

จบการแนะนำแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์เพียงเท่านี้ แพทย์สาขาที่จะคุยถึง ครั้งต่อไปคือ แพทย์รังสีร่วมรักษาคะ