คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอนที่ 4

เรายังเล่าเรื่องต่อของแพทย์ที่ให้การรักษาตัวโรคมะเร็งว่ามีสาขาไหนบ้าง ขอทวนนะคะว่า แพทย์รักษาโรคมะเร็งมีหลายสาขามาก ได้แก่ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์หูคอจมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวิทยา อายุแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์ กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา นรีแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ แพทย์รังสีร่วมรักษา วิสัญญีแพทย์ และแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

และได้เล่าไปแล้ว คือศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์ หู คอ จมูก วันนี้เป็นเรื่องของแพทย์ จักษุแพทย์ หรือ หมอตา คะ

จักษุแพทย์

จักษุแพทย์ หรือเรามักเรียกว่า หมอตา ที่ให้การรักษาโรคมะเร็ง จะให้การรักษาโรคต่างๆของตาด้วย เรายังไม่มีจักษุแพทย์ที่รักษาเฉพาะโรคมะเร็ง เพราะโรคมะเร็งของตาเป็นโรคที่พบได้น้อยมากๆ ทั้งนี้ ชนิดที่พบได้บ่อยของมะเร็งตา คือ โรคมะเร็งตาในเด็ก ซึ่งจริงๆคือมะเร็งของจอตา ที่เรียกว่า retinoblastoma ซึ่งจัดเป็นโรคมะเร็งในเด็กเล็ก เพราะเกือบทั้งหมดของผู้ป่วยพบในเด็กเล็กคะ

จักษุแพทย์รักษาโรคของตาทั้งด้วยการใช้ยา และการผ่าตัด ดังนั้น จักษุแพทย์จึงเป็นศัลยแพทย์ด้วย (eye surgeon) แต่ผ่าตัดเฉพาะโรคตาและรักษาโรคต่างๆของตาเท่านั้น

จักษุแพทย์ จะรักษาโรคมะเร็งตาด้วยการผ่าตัด และร่วมกับแพทย์รักษามะเร็งสาขาต่างๆ ในการดูแลเรื่องของตาเมื่อผู้ป่วยมะเร็งมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับตา

และเช่นเดียวกัน เมื่อได้ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งแล้ว จักษุแพทย์ยังคงนัดตรวจ ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งตลอดไป โดยการนัดตรวจผู้ป่วยเป็นระยะๆ ซึ่งความบ่อยของการนัดตรวจ ขึ้นกับดุลพินิจของจักษุแพทย์

เมื่อพูดถึง หมอตา/จักษุแพทย์ ผู้อ่านต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า หมายถึงใคร ไม่อย่างนั้นแล้วอาจหาหมอตาได้ไม่ถูกต้อง ที่เรามักเรียกว่า หมอตา จะมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ จักษุแพทย์ นักทัศนมาตร และผู้เชี่ยวชาญการทำแว่นตา (ช่างประกอบแว่นสายตา)

- จักษุแพทย์ ที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน ภาษาอังกฤษ เรียกว่า ophthalmologist (ออพธัลโมโลจีส) เราก็เรียกทั่วไป ว่า หมอตา จะเป็นแพทย์ที่ได้รับการศึกษา และฝึกอบรมต่อยอดให้ ดูแล ตรวจรักษา ผู้ป่วยที่เป็นโรคตาทั้งหมดด้วยวิธีการทางการแพทย์แผนปัจจุบัน รวมทั้งการผ่าตัดต่างๆในเรื่องโรคของตา เช่น การผ่าตัดสลายต้อกระจก การรักษาโรคตาด้วยเลสิค และการผ่าตัดตาในการรักษาโรคมะเร็ง

- นักทัศนมาตร (optometrist, ออพโตเมตทริส) เป็นผู้ที่ได้รับการเรียน การสอน การฝึกอบรม ในสาขา ทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิต (Doctor of Optometry, ย่อว่า OD หรือ ปริญญาทัศนมาตรศาสตร์บัณทิต ย่อว่า ทศ.บ. เรียน 4 หรือ 6 ปีแล้วแต่หลักสูตร) ในเรื่องเกี่ยวกับการป้องกัน แก้ไขปัญหาของสายตา ไม่ใช่รักษาโรคต่างๆของตา ทั้งนี้ปัญหาทางสายตา เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งแต่ไม่ใช่โรค ดังนั้น บุคคลากรกลุ่มนี้ จึงดูแลในเรื่องของ -การตรวจวัดสายตา -ประเมินความผิดปกติของสายตา -แนะนำประเภทแว่นสายตา ซึ่งทั้งหมดรวมไปถึงเรื่องของการใช้เลนส์สัมผัส (คอนแทคเลนส์, contact lens) ทุกชนิด เช่น เลนส์สัมผัสในสายตาสั้น เลนส์ตาโต หรือ โอเค เลนส์

ดังนั้น นักทัศมาตร จึงควรเรียกว่า “หมอสายตา” น่าจะตรงกว่า แต่เมื่อคุณมีปัญหาจากการใส่เลนส์สัมผัส เช่น เคืองตามาก น้ำตาไหล คุณควรต้องหยุดการใช้เลนส์สัมผัสก่อน แล้วรีบพบ จักษุแพทย์ (เพราะอาการเหล่านั้น ไม่ใช่เรื่องของสายตาแล้ว) หลังจากนั้นจึงปรึกษาจักษุแพทย์ในเรื่องการใช้เลนส์สัมผัส และการพบกับนักทัศมาส เพื่อการแก้ไขในเรื่องของตัวเลนส์ หรือวิธีใช้เลนส์ที่ถูกต้อง

- ช่างประกอบแว่นสายตา หรือ optician (ออพติเชียน) ซึ่งจะเป็นผู้ประกอบแว่น ตามที่นักทัศนมาตรสั่ง ไม่สามารถวัดหรือแนะนำ รักษา แก้ไขปัญหาสายตาได้ และไม่สามารถรักษาโรคตาได้

บุคคลทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะทำงานร่วมกันเสมอในการดูแลรักษาในเรื่องของสายตา แต่แยกหน้าที่กัน ไม่เหมือนกัน

ดังนั้น คำว่า หมอตา จึงควรหมายถึง จักษุแพทย์เท่านั้นคะ

วันนี้ จบเรื่อง ที่เป็นบทบาทของ จักษุแพทย์ ในการรักษาโรคมะเร็ง ครั้งต่อไปจะเล่าถึง บทบาทของอายุรแพทย์โรคมะเร็ง (อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา) คะ