คุยกับหมอรักษามะเร็ง ตอนที่ 2

เล่าต่อจากครั้งที่แล้วนะคะ โดยจะเล่าให้ฟังว่า แพทย์รักษาตัวโรคมะเร็งมีกี่สาขา แพทย์เค้าแยกกันทำงานอย่างไรคะ

แพทย์ที่ให้การรักษาตัวโรคมะเร็งมีหลายสาขามาก ได้แก่ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์หูคอจมูก จักษุแพทย์ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา อายุรแพทย์โลหิตวิทยา อายุรแพทย์มะเร็งโลหิตวิทยา กุมารแพทย์โลหิตวิทยา กุมารแพทย์มะเร็งวิทยา นรีแพทย์ นรีแพทย์มะเร็งวิทยา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ แพทย์รังสีร่วมรักษา วิสัญญีแพทย์ และแพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

แพทย์รักษาตัวโรคมะเร็งทุกสาขา เป็นกลุ่มแพทย์ที่จัดว่า ขาดแคลน ไม่เป็นที่นิยมเรียนหรือนิยมฝึกอบรม โดยเฉพาะสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ที่ในบางปีจะไม่มีแพทย์ประจำบ้านเข้ารับการฝึกอบรมเลย ไว้ค่อยๆเล่าให้ฟังว่าทำไม

ตอนนี้คุยให้ฟังก่อนเรื่องของแพทย์แต่ละสาขา เริ่มจากศัลยแพทย์แล้วกันคะ

ศัลยแพทย์

แพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง อนุสาขาศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา เป็นศัลยแพทย์ทั่วไป (ศัลยแพทย์ที่รักษาโรคต่างๆด้วยการผ่าตัด โดยจบเป็นแพทย์ทั่วไป แล้วฝึกอบรมต่อยอด 3-5 ปี เป็นศัลยแพทย์ทั่วไป) ที่เข้ารับการฝึกอบรมต่อยอดเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งอีกประมาณ 2 ปี ซึ่งแพทย์อนุสาขานี้ยังมีน้อยมากในบ้านเรา เพราะหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่งเริ่มในปี พ.ศ. 2547 และยังไม่ค่อยมีศัลยแพทย์นิยมเข้ารับการฝึกอบรม ดังนั้นการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในบ้านเรา จึงมักเป็นศัลยแพทย์ทั่วไป ซึ่งเช่นเดียวกับในทุกประเทศทั่วโลก ที่การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งทั่วไปให้การรักษาโดยศัลยแพทย์ทั่วไป หรืออาจเป็นแพทย์ศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา ถ้ามีแพทย์สาขานี้ในประเทศคะ

แพทย์ศัลยกรรมทั่วไป ในโรงพยาบาลที่มีการสอนนักศึกษาแพทย์และฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ยังแบ่งการทำงานออกเป็นอีกหลายอนุสาขา ซึ่งต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมหลังผ่านการฝึกอบรมเป็นศัลยแพทย์ทั่วไปแล้วเช่นกัน เช่น

  • อนุสาขาศัลยกรรมช่องปากและใบหน้า ซึ่งผ่าตัดรักษาโรคของช่องปากและของ ใบหน้า ซึ่งรวมทั้งโรคมะเร็งของช่องปากและของใบหน้า
  • อนุสาขาศัลยกรรมทรวงอกและหัวใจ จะให้การรักษาผ่าตัดโรคของปอด/โรคปอด/โรคทรวงอก อวัยวะในช่องอก และหัวใจ แต่บางโรงพยาบาล แพทย์ผ่าตัดหัวใจก็จะแยกจากแพทย์ผ่าตัดโรคของทรวงอก แพทย์สาขานี้จะผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปอด รวมทั้งมะเร็งและเนื้องอกอื่นๆของเนื้อเยื่อในช่องออกด้วย เช่น เนื้องอกของต่อมไทมัส เป็นต้น
  • ศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์ (Orthopedics) หรือทั่วไปเรียกว่า หมอออร์โถ รักษาโรคของระบบกระดูกและข้อ ซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งกระดูก และกล้ามเนื้อด้วย
  • ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ หรือหมอยูโร (Urology) รักษาโรคของระบบทางเดินปัสสาวะทั้งหญิงชายด้วยการผ่าตัด และรักษาโรคของอวัยวะสืบพันธ์ชาย รวมการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะด้วย
  • ประสาทศัลศาสตร์ หรือ ประสาทศัลยแพทย์ รักษาโรคของสมองและไขสันหลังด้วยการผ่าตัดซึ่งรวมถึงโรคเนื้องอก และมะเร็งของสมองและไขสันหลัง
  • และในโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลที่มีการเรียนการสอน นักศึกษาแพทย์ ยังมีแพทย์อนุสาขา กุมารศัลยศาสตร์/กุมารศัลยแพทย์ที่ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเด็ก (ผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์)

ทั้งนี้ การที่ศัลยแพทย์ทั่วไป และศัลยแพทย์ทุกอนุสาขา ให้การรักษาผู้ป่วยโดยการผ่าตัดทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยมะเร็ง เป็นเพราะ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยศัลยกรรมทั้งหมด ผู้ป่วยมะเร็งจะน้อยมาก ไม่ถึง 10% ศัลยแพทย์ทุกสาขาจึงสามารถดูแลผู้ป่วยได้ในทุกโรค อย่างไรก็ตาม ในโรงพยาบาลที่มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งมาก เช่น ในศูนย์มะเร็งต่างๆ ศัลยแพทย์ก็จะทำการผ่าตัดรักษาเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง

อนึ่ง ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งบางท่านที่สนใจในการรักษาโรคมะเร็ง ก็จะให้การรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องด้วย ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน ยารักษาตรงเป้า และยาอื่นๆตามแนวทางการรักษาโรคมะเร็งชนิดนั้นๆด้วย

ศัลยแพทย์ทุกสาขา ภายหลังการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งแล้ว ก็ยังจะนัดตรวจผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นระยะๆตามที่แพทย์เห็นสมควร โดยเฉพาะในช่วงหลังผ่าตัดใหม่ๆ อาจจะนัดผู้ป่วยถี่ อาจทุก 1-2 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด และสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก

วันนี้ขอจบที่ ศัลยแพทย์ก่อน วันต่อไปจะเล่าต่อเรื่องของ ทันตแพทย์ และถ้ามีเวลา ก็จะต่อด้วย เรื่องของ แพทย์หูคอจมูกคะ